เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | "สังคมผู้สูงอายุ" โดยสมบูรณ์ ... กับระบบบริการสุขภาพ

19 ธ.ค. 2561 | 04:30 น.
| เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ : "สังคมผู้สูงอายุ" โดยสมบูรณ์ ... กับระบบบริการสุขภาพ

| โดย ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำบางเวลาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

……………….


หากจะพูดถึงประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้ว ต่างก็ทราบกันดีว่า ประเทศได้ก้าวสู่สังคมสูงอายุ โดยในปัจจุบันมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เป็นสัดส่วน 16.9% หรือ 11.7 ล้านคน และสัดส่วนนี้ก็จะเพิ่มไปถึง 20% หรือ 13.8 ล้านคน ในปี 2564 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และคาดการณ์ว่า ในอีกเกือบ 20 ปีข้างหน้า หรือ ในปี 2575 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนถึง 30% หรือ 20.9 ล้านคน เป็น "สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่" (Super-Aged Society)

สหประชาชาติเองก็ได้คาดการณ์ว่า สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียน โดยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่นในอาเซียนประมาณ 20 ปี อย่างไรก็ตาม ปี 2583 (ค.ศ. 2040) ทุกประเทศในอาเซียนจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

นอกจากนี้ แนวโน้มการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ทั้งผู้สูงอายุและผู้เข้าสู่วัยสูงอายุจำเป็นต้องเก็บออมเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณ และหากเงินออมมีไม่เพียงพอก็จะกลายเป็นภาระแก่สังคมในที่สุด

ปัญหา คือ การตระหนักรู้จะเกิดขึ้นกับประชากรในปัจจุบันที่ไม่ถึงวัยผู้สูงอายุ สำหรับประชากรผู้สูงวัยในปัจจุบันได้ตระหนักหรือมีการเก็บออมในอดีตหรือไม่ ในขณะที่ เป็นครอบครัวใหญ่ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ปัญหาผู้สูงอายุมีบริบทที่เหมือนและต่างกันระหว่างภาคชนบทและเมือง รัฐบาลเองได้จัดสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ

จะพบว่า จากผลประมาณการรายได้ภาครัฐ รายได้ประชาชาติ รายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุ ปี 2555-2564 พบว่า รายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2555 คิดเป็นจำนวนเงิน 1.7 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 9 ปี

สำหรับสัดส่วนรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุต่อรายได้ภาครัฐเองก็เพิ่มจาก 7.58% ในปี 2555 เป็น 9.25% ในปี 2564 ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลต่อการคลังภาครัฐในอนาคต ประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมในการรองรับปัญหาเหล่านี้ ทั้งปัญหาทางการคลังและงบประมาณ การจัดทำนโยบายที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ประเทศที่เผชิญ หรือ กำลังจะเผชิญ ต่างมีนโยบายการจัดการสังคมผู้สูงอายุทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคมที่เหมือน หรือ คล้ายกัน หรือ แตกต่างกัน ขึ้นกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งระดับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อาทิเช่น ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้สูงอายุ เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต การขยายอายุเกษียณ การส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพ การจัดระบบประกันสุขภาพระยะยาวที่มีประสิทธิผล ระบบเงินออมและเงินประกันเพื่อผู้สูงอายุ

สำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีการจัดทำแนวทางการปฎิรูประบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นด้านสังคมผู้สูงอายุก็เป็นประเด็นสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การกำหนดรูปแบบจำเป็นต้องให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการจัดสวัสดิการภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ หากภาครัฐดำเนินการเองทั้งหมดจะเป็นภาระทางการคลังที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

มีประเด็นเกี่ยวกับความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัยในชุมชน จากการศึกษาวิจัยโครงการการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ความมั่นคงของมนุษย์ และรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ, Asst. Prof Dr. Chantal Herberholz, ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล พ.ศ. 2560) มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ ปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ตัวอย่างเช่น ในบางจังหวัดมีปัญหา แต่ยังไม่รุนแรง เนื่องจากใช้คนในครอบครัวดูแล แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการดูแลรักษาที่จะเป็นภาระต่อครอบครัว เนื่องจากค่าใช้จ่ายและคนดูแลนั่นเอง

มีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัย คือ การสร้างสถานที่ให้ผู้สูงวัยได้มาพบปะกันตามชุมชนต่าง ๆ (สถานที่พบปะนี้ไม่ได้หมายถึงบ้านพักคนชรา) เนื่องจากบางครั้งลูกหลานอาจจะไม่ได้มีเวลาดูแลผู้สูงวัย จึงควรอาศัยคนในชุมชนและผู้สูงวัยในชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน


ภาพหน้า 7

เหตุผล คือ การตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบเป็นทางการอาจมีปัญหาที่ภาระงบประมาณ และที่สำคัญ คือ ตัวผู้สูงอายุเองอาจไม่ชอบที่จะอยู่แบบนั้น ควรให้ลูก ๆ ของท่านมาดูแลเอง หรือ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจะดีกว่า

นอกจากนั้น คุณภาพการบริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุของภาครัฐส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอย่างมาก สถานพยาบาลบางแห่ง เตียงผู้ป่วยติดกันมากเกินไป สาเหตุเนื่องจากระบบบริการภาครัฐมีผู้มาใช้บริการหนาแน่น ปะปนกัน หรือ ประกันสังคมควรพิจารณาประเด็นการเพิ่มสิทธิให้ครอบคลุมถึงพ่อแม่ด้วย

ด้าน "การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว" รัฐควรส่งเสริมให้ครอบครัวสามารถให้การดูแลสมาชิกที่มีภาวะพึ่งพาได้อย่างมีคุณภาพ โดยจัดระบบบริการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและบริบทของสังคมไทย และส่งเสริมค่านิยมเรื่องการกตัญญูกตเวที ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้ มีระบบสนับสนุนครอบครัว ชุมชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการช่วยเหลือแก่ครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

รวมถึงพัฒนาสถานบริบาลและบุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐาน และมีการรับรองด้านคุณภาพและมาตรฐานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ไม่ตกอยู่ในวังวนความยากจน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐที่เน้นการให้บริการดูแลผู้สูงวัยที่ยากจนและอาศัยอยู่เพียงลำพัง มีจำนวนเพียง 25 แห่งเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานจากภาคเอกชน แต่ไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นระบบและไม่ทราบจำนวน และภาคเอกชนมีราคาค่าบริการที่แพง ทำให้ครัวเรือนที่มีรายได้ตํ่าหรือกลางจะไม่สามารถจ่ายได้

หากไม่สามารถดำเนินการสนับสนุนบริการจากชุมชนได้ จะก่อให้เกิด "วงจรซํ้าซาก" คือ ผู้ดูแลผู้สูงวัยต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงวัยที่บ้าน ทำให้ไม่สามารถมีรายได้ที่ต้องสะสมเพื่อดูแลตนเองต่อไปในอนาคตเมื่อถึงวัยชรา ความยากจนของผู้สูงวัยเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาค การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพควรทำอย่างเข้มแข็ง เพื่อทำให้ภาวะการชราภาพเป็นไปอย่างราบรื่น และนี่จะทำให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานต่อไปได้ยาวนานขึ้น

ประเทศไทยยังไม่มีกลไกที่ครอบคลุมในการจ่ายสำหรับการดูแลระยะยาวอย่างเป็นทางการ ระบบบริการสุขภาพในโรงพยาบาลก็ปะปน ทั้งแบบจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ กับการต้องการการดูแลทั้งในระยะปานกลาง ระยะยาว การดูแลแบบประคับประคอง

การปฏิรูประบบประกันสุขภาพต้องคำนึงถึงการปฎิรูประบบบริการสุขภาพเช่นกัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งระดับมหภาคและระดับจุลภาคนั่นเอง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,428 วันที่ 20 - 22 ธ.ค. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ย้อนมองการเปลี่ยนแปลง "สังคมผู้สูงอายุ" ในสังคมโลก สู่การเร่งวางแผนในสังคมไทย
มธ. ผุดแอพตรวจอัลไซเมอร์ด้วยเสียงพูด รับสังคมผู้สูงอายุ


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว