"รถยนต์-อุตฯไฮเทค" ถูกลูกหลง สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

20 ธ.ค. 2561 | 04:20 น.
| รายงานพิเศษ : "รถยนต์-อุตฯไฮเทค" ถูกลูกหลง สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

....................


สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเปิดประเด็นกันมาตั้งแต่ต้นปี 2561 และทวีความเข้มข้นเป็นลำดับตั้งแต่เดือน ก.ค. เมื่อทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มตั้งกำแพงภาษีสกัดสินค้านำเข้าจากกันและกันอย่างเต็มรูปแบบ จนถึงขณะนี้ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงพักรบชั่วคราว 90 วัน (ครบกำหนดในวันที่ 1 มี.ค. 62) เปิดทางให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์อันเป็นผลจากการพบปะเจรจานอกรอบการประชุม G20 ระหว่าง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผลพวงจากการตกลงครั้งนี้ ทำให้สหรัฐฯ ยอมระงับแผนขึ้นภาษีสินค้าจีนระลอกใหม่ ที่เดิมกำหนดจะขึ้นภาษีในวันที่ 1 ม.ค. 2562 ขณะที่ จีนเองก็ยอมที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง อีกทั้งล่าสุดยังประกาศจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ จากเดิมอัตรา 40% เหลือเพียง 15% และที่เคยมีแผนจะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐฯ อีก 25% ตั้งแต่ปีใหม่นี้ก็ให้ระงับไปก่อนเช่นกัน

นับเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็แฝงไว้ซึ่งความไม่แน่นอน ยิ่งมีกระแสการร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดาในการจับกุมตัว "ผู้บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีฯ" ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมจากจีน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตามมาด้วยการที่ศาลจีนสั่งแบนการจำหน่ายและนำเข้าโทรศัพท์ไอโฟนของบริษัทแอปเปิลฯ หลายรุ่น คล้ายกับเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ก็ทำให้เห็นว่า ประเด็นการช่วงชิงตำแหน่งมหาอำนาจทางเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้น ยังไม่สงบศึกลงได้ง่าย ๆ และประเด็นดังกล่าวก็จะถูกนำมาใช้ในการต่อรองบนโต๊ะเจรจาหาทางออกให้กับสงครามการค้าอย่างแน่นอน

ยุทธศาสตร์ชาติ 30 ปี ที่จีนตั้งเป้าหมายจะเป็นมหาอำนาจทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการทหารระดับโลกนั้น กำลังถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรสกัดกั้นในหลายรูปแบบ คำถาม คือ จีนจะยอมถอยง่าย ๆ หรือ และถ้ายอม จีนจะยอมถอยมากน้อยแค่ไหน การประชุมผู้บริหารระดับสูงของจีนในช่วงสัปดาห์นี้เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสำหรับปี 2019 (พ.ศ. 2562) เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนในอนาคตท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเผชิญหน้าทางการค้ากับสหรัฐฯ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนเอง ก็น่าจะให้ความกระจ่างและตอบคำถามข้างต้นได้ในระดับหนึ่ง นานาประเทศ รวมทั้งไทย ที่เป็นคู่ค้ากับจีนและสหรัฐฯ ต่างจับตาความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ว่า การทำศึกระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย จะสร้างแรงกระทบต่อประเทศที่ 3 มากน้อยเพียงใด ใครจะได้รับ "ลูกหลง" อย่างไรบ้าง และควรจะต้องตั้งรับอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด และถ้าจะให้ดีก็ต้องมองให้ออกด้วยว่า นอกจากลูกหลงแล้ว บางประเทศอาจได้รับ "อานิสงส์" จากเรื่องนี้ด้วยซํ้า


อานิสงส์การย้ายฐานผลิต
งานวิจัยจากสถาบัน The Economist Intelligence Unit ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า ระหว่างที่ทั้ง 2 ฝ่าย ยังเดินหน้าทำสงครามการค้ากันนั้น ประเทศใดในเอเชียที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากสงครามการค้าครั้งนี้ พิจารณาจากผลกระทบระยะสั้น ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปจีนมากก็จะได้รับแรงกระแทกมากไปด้วย กรณีนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ และหากมองในระยะยาว บางประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และไทย จะได้รับประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์


TP10-3428-A

การวิจัยของ The Economist Intelligence Unit (EIU) มุ่งเน้นไปที่ 3 ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจของเอเชียและเป็นอุตสาหกรรมในดงกระสุนของสงครามการค้าครั้งนี้ คือ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการเกษตร ประเทศที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับนำไปประกอบสินค้าสำเร็จรูปและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลว์เอนด์ อาทิ โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์พกพา เช่น เวียดนามและมาเลเซีย จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในระยะยาว เนื่องจากเป็นประเทศที่บริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ใช้เป็นฐานการผลิตอยู่แล้ว หากจะมีการโยกย้ายโรงงานจากจีนหรือสหรัฐฯ (เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี) มายังประเทศเหล่านี้ก็สามารถทำได้อย่างสะดวก


ความเชี่ยวชาญสร้างโอกาส
"อุตสาหกรรมสินค้าไฮเทคมีบทบาทในสงครามการค้าครั้งนี้มาก เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบเป็นสินค้าประเภทที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมากที่สุด และสหรัฐฯ เองยังต้องการสกัดจีนไม่ให้เดินหน้านโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่เรียกว่า นโยบาย Made in China 2025" งานวิจัยของ EIU ระบุ ดังนั้น อานิสงส์จากการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีจึงมีความเป็นไปได้สูง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยและมาเลเซียน่าจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยสามารถเสียบแทนจีนในตลาดอะไหล่และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการของจีนเองก็มีแนวโน้มจะออกมาผลิตชิ้นส่วนประกอบและอะไหล่รถยนต์ในประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียนี้ด้วยเช่นกัน

ถามว่า แล้วประเทศที่มีโอกาสบาดเจ็บจากลูกหลงของสงครามการค้ามีในด้านใดบ้าง EIU ระบุว่า ประเทศที่พึ่งการส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือ สินค้าชิ้นส่วนที่ต้องนำไปใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจีน แต่ไม่มีข้อได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิต เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ จะได้รับผลกระทบแรงในระยะสั้น ๆ เว้นแต่จะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่คู่แข่งยากจะเทียบชั้นได้ เช่น บางบริษัทของไต้หวันและเกาหลีใต้ กรณีเช่นนี้ก็จะมีปัจจัยรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่า นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เห็น ว่า การยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่าสินค้านวัตกรรมภายในประเทศนั้น เป็นเทรนด์ระดับโลกที่ควรจะต้องมุ่งไป เพราะความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมที่มีแต้มต่อเหนือคู่แข่งหรือไม่เหมือนใคร จะเป็นเกราะป้องกันผลกระทบได้เป็นอย่างดีท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,428 ระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว