จ่อทิ้งลงทุนไทย! 'เชฟรอน' ม้วนเสื่อ

17 ธ.ค. 2561 | 10:23 น.
171261-1653

คนในวงการ ระบุ 'เชฟรอน' มีโอกาสทิ้งการลงทุนในไทย หลังแหล่งเอราวัณสร้างรายได้หลักปีละเกือบ 9 หมื่นล้าน ตกอยู่ในมือ ปตท.สผ. ชี้! แหล่งสัมปทานที่มีอยู่ค่าดำเนินงานไม่คุ้ม เบนเข็มลงทุนในประเทศอื่นที่มีศักยภาพดีกว่า เห็นสัญญาณยื้อการจ่ายค่ารื้อถอนหลุมผลิต

แหล่งข่าวจากวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า จากที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศผลประมูลปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ให้กลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะการประมูลทั้งแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ทางบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ของสหรัฐอเมริกา จะถอนการลงทุนออกจากไทยไปทั้งหมด เนื่องจากแหล่งรายได้หลักที่มาจากการขายก๊าซธรรมชาติหายไป โดยในเดือน ต.ค. ผลิตก๊าซอยู่ที่ 1,267 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากคำนวณราคาขาย ณ ปากหลุม อยู่ที่ 190.84 บาทต่อล้านบีทียู เท่ากับว่ารายได้ของเชฟรอนจะหายไปราว 7,440 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 8.7 หมื่นล้านบาทต่อปี


apptp8-3169-a

ขณะที่ แหล่งก๊าซอีก 3 แหล่ง ที่เชฟรอนเข้าไปถือหุ้นและเป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ แหล่งไพลิน ผลิตก๊าซอยู่ที่ 428 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ราคาปากหลุมที่ 177.8 บาทต่อล้านบีทียู จะมีรายได้อยู่ที่ 2,356 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาทต่อปี แหล่งทานตะวันและเบญจมาศ ผลิตก๊าซอยู่ที่ 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ราคาปากหลุมที่ 153.8 บาทต่อล้านบีทียู มีรายได้ 429 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 5 พันล้านบาทต่อปี และแหล่งลันตาและสุรินทร์ ผลิตก๊าซอยู่ที่ 1.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ราคาปากหลุมที่ 153.8 บาทต่อล้านบีทียู มีรายได้อยู่ที่ 5.24 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 62 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นสัดส่วนหุ้นที่น้อยในสายตาของเชฟรอน ที่ไม่คุ้มกับการดำเนินงาน ก็จะตัดขายให้กับรายอื่นที่สนใจ


140897

ทั้งนี้ แม้ว่าทางเชฟรอนจะเหลือแหล่งสัมปทานอีกหลายแปลง แต่จะเป็นแหล่งที่ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คอนเดนเสต ในปริมาณ 5.8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ 5.7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งทำรายได้ไม่เท่ากับการผลิตก๊าซ ในขณะที่ ต้นทุนการดำเนินงานก็สูงด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อแหล่งรายได้หลักหายไป ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานที่จะรักษากำลังการผลิตในแหล่งสัมปทานอื่น ๆ ไม่ได้ลดลง จึงทำให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า หากต้องนำเงินมาลงทุน สู้นำเงินไปลงทุนในแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีศักยภาพที่ดีกว่าแทน ซึ่งถือเป็นนโยบายของเชฟรอนที่ดำเนินงานอยู่ในขณะนี้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางเชฟรอนพยายามที่จะยืดการจ่ายเงินหลักประกันเป็นค่ารื้อถอนแท่นผลิตก๊าซของแหล่งเอราวัณ ภายในปีนี้ หลังจากที่ได้จัดทำแผนการรื้อถอนเบื้องต้นและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนส่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว ตามประกาศกฎกระทรวง กำหนดแผนงานประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ที่เบื้องต้นประเมินว่า ต้องรื้อถอนกว่า 200 แท่น ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายราว 100-150 ล้านบาทต่อแท่น หรือ หลายหมื่นล้านบาท ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการเจรจากับเชฟรอนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ


appChevron-logo

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไปเชฟรอนฯ จะลดการลงทุนในแหล่งเอราวัณลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้สามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องจนถึงวันสุดท้าย โดยเลือกลงทุนเพียงเฉพาะในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น และจะเริ่งผลิตก๊าซให้มากที่สุดเท่าที่กำลังการผลิตของแต่ละหลุมจะทำได้ เพื่อหารายได้คืนมาชดเชยจากเงินที่ลงทุนไป รวมทั้งยังต้องพยายามลดต้นทุนการประกอบกิจการให้ต่ำที่สุด โดยเฉพาะการดูแลรักษาอุปกรณ์การผลิต เพียงเท่าที่สามารถทำงานได้ในอายุสัมปทานเท่าที่เหลืออยู่อีก 4 ปี

ทั้งนี้ บริษัทวิจัย วู้ด แมคเคนซีย์ ให้ความเห็นว่า ความพ่ายแพ้ของเชฟรอนในการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชในประเทศไทย เป็นการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของเชฟรอนในปี 2561 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อนหน้านี้ เชฟรอนก็เพิ่งพ่ายแพ้ในการประมูลแหล่งก๊าซ "โรคาน" ในอินโดนีเซีย ให้แก่ บริษัท เพอร์ตามินาฯ ที่เป็นผู้ชนะการประมูล ดังนั้น จึงคาดหมายว่า กำลังการผลิตและปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของเชฟรอนในภูมิภาคนี้จะลดลงอย่างมาก หลังจากปี 2565 เป็นต้นไป และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะกลายเป็นภูมิภาคที่ไม่ได้อยู่ใน "ความสนใจหลัก" ของเชฟรอนอีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการยืนยันผลวิจัยของ "วู้ด แมคเคนซีย์" เมื่อปีที่แล้ว ที่พยากรณ์ว่า เชฟรอนจะถอยออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ต่อเนื่อง เปิดช่องว่างให้บริษัทพลังงานของท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ เข้ามาเสียบแทน


apppettro

"ความสนใจของเชฟรอนตอนนี้ น่าจะหันกลับไปที่สหรัฐอเมริกา หลังจากที่บริษัทเพิ่งประกาศเพิ่มงบลงทุนในสหรัฐฯ 10% เมื่อเร็ว ๆ นี้"
รายงานระบุและว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องได้รับการชี้แจงให้กระจ่างชัด เช่น การถ่ายโอนหนี้สินและงานรื้อถอนระหว่างเชฟรอนและ ปตท. การรับประกันว่า ช่วงถ่ายโอนการดำเนินงานจะราบรื่นด้วยดี และงบการลงทุนของเชฟรอนที่จะใช้สำหรับการพัฒนาแหล่งเอราวัณไปจนถึงปี 2565 ว่า จะมากน้อยเพียงใด

สำหรับการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณครั้งนี้ มีกระแสข่าวออกมาในช่งวก่อนที่กระทรวงพลังงานจะตัดสินผู้ชนะการประมูล ทางเชฟรอนได้มีการเข้าหารือกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อสายตรงถึงรัฐบาลไทยในการติดตามผลการประมูล รวมถึงกระแสข่าวหลังจากทราบผลประมูลแล้ว ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาได้โทรศัพท์ถึงรัฐบาลเพื่อขอทราบความชัดเจนในผลการประมูลด้วย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,427 วันที่ 16 - 19 ธ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวน่าสนใจ :
'เชฟรอน' ผิดหวังแพ้ประมูลเอราวัณและบงกช
ปตท.สผ.ดัมพ์ราคาก๊าซ 116 บาท/ล้านบีทียู ชนะเชฟรอนทั้งแหล่งเอราวัณ-บงกช


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก