เงินบาทแนวโน้มผันผวน จับทางดอกเบี้ยนโยบาย "เฟด-กนง.-บีโอเจ-บีโออี"

17 ธ.ค. 2561 | 01:26 น.
ธนาคารกรุงไทย ระบุ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เปิดเช้าวันนี้ (17 ธ.ค. 61) ที่ระดับ 32.81บาท แข็งค่าขึ้นจาก 32.80 บาท ช่วงสิ้นวันทำการก่อน ในสัปดาห์นี้แนะนำจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

วันพุธ (19 ธ.ค. 61) คาดว่า กนง. จะ "ขึ้น" อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ระดับ 1.75% (+25bps) โดยมองว่าเหตุผลหลักในครั้งนี้ คือ การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ขณะที่ การขึ้นดอกเบี้ยในปัจจุบันเพียง 1 ครั้ง ก็สามารถปรับให้แนวโน้มดอกเบี้ยไทยให้เป็น "ขาขึ้น" เช่นเดียวกับทั่วโลกได้ โดยไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ดังนั้น จึงมองว่าหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง. จะ "หยุด" ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอความชัดเจนของการเมืองในประเทศ และรอดูทิศทางของนโยบายการเงินทั่วโลกก่อน โดยอาจกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2562

คืนวันพุธ (19 ธ.ค. 61) คาดว่า เฟดจะ "ขึ้น" อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ระดับ 2.25-2.50% (+25bps) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนเฝ้ารอ คือ การให้แถลงการณ์หลังจบการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดยมองว่าเฟดมีโอกาส "ปรับลด" คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ และปรับลดเป้าหมายการขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือ "2 ครั้ง" ในปี 2562 และ "1 ครั้ง" ในปี 2563 เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าส่งผลลบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลก และยังกดดันให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ เข้าสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) อย่างหนัก

ขณะที่ วันพฤหัสบดี (20 ธ.ค. 61) การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คาดว่าจะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ -0.10% และคงเป้าหมายบอนด์ยิลด์ระยะยาว 10 ปี ที่ 0.00% โดยที่บีโอเจก็จะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในการประชุมครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ คาดธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ในวันพฤหัสบดี (20 ธ.ค. 61) เช่นกัน เนื่องจากทั้งเศรษฐกิจและค่าเงินปอนด์ยังคงเผชิญปัญหา Brexit ที่มีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดการเงินในสัปดาห์นี้ ต้องจับตาธนาคารกลางเกือบทุกวัน เชื่อว่านโยบายการเงินในปัจจุบันน่าจะเป็น "ตัวช่วย" ในการปรับสมดุลของเสถียรภาพเศรษฐกิจและตลาดทุน เพราะธนาคารไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดมากถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ทุกธนาคารกลางจะ "ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย" เพื่อรอความชัดเจนของเศรษฐกิจและการค้าโลกให้กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งก่อน

ส่วนของค่าเงินบาท ช่วงนี้เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบ แม้แนวโน้มหลักจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงสงครามการค้าเข้ามากดดัน ทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงอยู่เป็นครั้งคราว

สัปดาห์นี้ แม้ตลาดจะรับข่าวไปบ้างแล้วว่า เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกับ กนง. ที่จะขึ้นดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าตลาดไม่ได้ไว้ใจธนาคารกลางมากนัก ส่วนหนึ่งจึงรอความชัดเจนก่อน ดังนั้น เงินบาทจึงยังสามารถแข็งค่าขึ้นได้อีก เมื่อเหตุการณ์ทั้ง 2 เกิดขึ้นจริง ซึ่งระหว่างวันนี้กรอบเงินบาทอยู่ที่ 32.75-32.85 บาท และกรอบเงินบาทในสัปดาห์ 32.60-33.10 บาท

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว