GPO-MBP วางกลยุทธ์ขยายการผลิตวัคซีน ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้า

16 ธ.ค. 2561 | 07:02 น.
GPO-MBP แสดงศักยภาพโรงงานมาตรฐานระดับสากลแห่งแรกในไทย พร้อมเป็นศูนย์กลางส่งออกวัคซีนในเอเชีย-แปซิฟิก มั่นใจสร้างความมั่นคงของวัคซีนให้กับชาติ



ภาพหมู่ pic1_resize
พล.ท.สุชาติ วงษ์มาก กรรมการ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด หรือ GPO-MBP กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรค ทั้งยามระบาดและยามปกติ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองด้วยการผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศ GPO-MBP มีเป้าหมายที่จะพัฒนาและผลิตวัคซีนเองภายในประเทศให้ครอบคลุมโรคต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการวางกลยุทธ์ในการขยายการผลิตวัคซีน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนจากรัฐบาล

นายแพทย์ ดร.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 และมีผลบังคับใช้วันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา เปรียบเสมือนตัวกำหนดให้มีกลไกที่เป็นระบบในการส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การจัดหา การกระจายวัคซีน และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสมและต่อเนื่องในระยะยาว เป็นการสร้างหลักประกันนโยบายแห่งรัฐ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจและยุทธศาสตร์วัคซีน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันประเทศสู่ความมั่นคง สามารถพึ่งตนเองและการเป็นผู้นำด้านวัคซีนในระยะยาว ทำให้ประชาชนเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ และทำรายได้เข้าประเทศโดยการส่งออกวัคซีน โดยที่ผ่านมายังขาดการรวมพลังระหว่างองค์กรที่มีศักยภาพในการพัฒนางานด้านวัคซีน และขาดความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้สอดประสานและมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน


รูปภายในโรงงาน GPO-MBP pic2_resize

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความคุ้มค่ามากที่สุด ทุกวันนี้มีกว่า 30 โรค ที่สามารถป้องกันหรือลดโรคจากการฉีดวัคซีนได้ โดยทุก ๆ ปี วัคซีนสามารถช่วยชีวิตคนได้ 2.5 ล้านคนทั่วโลก และ 750,000 คน รอดพ้นจากความพิการต่าง ๆ ได้

จะเห็นได้ว่า วัคซีนมีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เช่น ช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาดในสหรัฐอเมริกา ปี 2550 ส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจประมาณ 24 ล้านล้านบาท รวมถึงสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว บันเทิง และอาหาร 80% และรายได้จากการขนส่ง คลังสินค้า ลดลง 67% เป็นต้น ซึ่งหากประเทศนั้น ๆ มีการผลิตวัคซีนที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ก็จะช่วยลดความสูญเสียได้

การคิดค้นพัฒนาและการผลิตวัคซีนต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาศัยความสามารถในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูง แต่มีโอกาสทำกำไรไม่มาก ในระยะต้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนจากภาครัฐ โดยไม่มุ่งเน้นผลตอบแทนเพื่อคืนทุนในระยะสั้น แต่เป็นการลงทุนเพื่อการสร้างศักยภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน


โรงงาน GPO-MBP pic1_resize

สำหรับ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด หรือ GPO-MBP เป็นโรงงานผลิตวัคซีนร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข, บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด และบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด โดยก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 300 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาการผลิตวัคซีนที่ได้คุณภาพในระดับสากล เสริมสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน และให้การสนับสนุนวัคซีนคุณภาพ กับแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ โดยได้ดำเนินการก่อสร้างในปี 2543 ภายใต้การควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ได้มาตรฐานดีเยี่ยมแห่งหนึ่งของเอเชีย รวมถึงเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการส่งออกวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี ไปยัง 15 ประเทศ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านวัคซีนระดับมาตรฐานโลกในการดูแลสุขภาพประชาชนทั่วประเทศและทั่วภูมิภาค

บริษัทฯ ได้พัฒนากระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีนหลากหลายชนิด โดยรวมถึงวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ และวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี โดยบริษัทฯ ได้ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตยาที่ดีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 130 คน

595959859