ทางออกนอกตำรา : ‘ประยุทธ์นิยม’ ปะทะ ‘ประชานิยม’

15 ธ.ค. 2561 | 18:19 น.
ประยุทธ์นิยม-1 ประยุทธ์นิยม-5 ต้องบอกว่าสะท้านไปทั้งเมือง เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของ “สมคิดจาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี โหมกระหนํ่าจัดแพ็กเกจช่วยเหลือกลุ่มผู้ยากไร้ คนแก่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกมาเป็นชุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 ก่อนหน้าที่จะนำไปสู่การปลดล็อกทางการเมืองสู่การเลือกตั้งที่นักการเมืองพูดกรอกหูประชาชนว่า“ประชาธิปไตยกินได้”

ผมไล่เลียงให้เห็นภาพการจัดยาชุดของรัฐบาลลุงตู่ออกมาได้ดังนี้...

- ช่วยเหลือค่านํ้า ค่าไฟต่อเดือน 10 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 -กันยายน 2562 ใช้งบ 38,730 ล้านบาท

- แจกเงินปลายปี 500 บาท ใช้งบ 7,250 ล้านบาท

- ช่วยเหลือค่าเดินทางรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนละ1,000 บาท ใช้งบ 3,500 ล้านบาท

- ขยายกรอบวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้ข้าราชการที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ใช้งบ 2 หมื่นล้านบาท

- เพิ่มเงินข้าราชการบำนาญที่ได้รับบำเหน็จน้อยกว่าหรือตํ่ากว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 10,000 บาท ใช้เงิน 558 ล้านบาท

- แจกเงินชาวสวนยางแก้ปัญหาราคายางตกตํ่า ให้ชาวสวนยาง 999,065 ราย คนกรีดยาง 304,266 ราย ใช้เงิน 18,604 ล้านบาท

เรียกว่าเป็นการเดินหน้ามาตรการสวัสดิการแห่งรัฐตามแนวทางประชารัฐไปแบบเต็มตัวไม่มีการเหนียมอายอีกต่อไป

อ่าน | ทางออกนอกตำรา : ทำไม 'ประยุทธ์นิยม' ซื้อใจขรก.เกษียณ

ประยุทธ์นิยม-2 ประยุทธ์นิยม-3

[caption id="attachment_361901" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ประยุทธ์นิยม-6 ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงวันที่ 23 กันยายน 2559 รัฐบาลนายกฯลุงตู่นี่แหละได้จัดสรรงบแก่ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน เป็นผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท จำนวน 4.6 ล้านราย แยกเป็นเกษตรกร 1.5 ล้านราย คนจนในเมือง 3.1 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 3,000 บาท ใช้งบประมาณไป 13,830 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 รัฐบาลก็จัดสรรเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 3.6 ล้านราย แยกเป็นเกษตรกร 1.3 ล้านราย คนจนในเมือง 2.3 ล้านราย ทั้งหมดได้รับเงินช่วยเหลือตกคนละ 1,500 บาท

ทุกคนจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งสามารถนำไปชำระค่าสินค้าจำเป็น ในชีวิตประจำวันได้ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี จะได้รับ 300 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทจะได้รับ 200 บาทต่อคนต่อเดือน

นอกจากนี้ยังได้รับค่าโดยสารรถเมล์ผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
ประยุทธ์นิยม-8 ในรอบปี 2561 รัฐบาลนายกฯลุงตู่เดินหน้านโยบายแบบนี้แบบจัดหนัก จนนักการเมืองร้องกันระงม ออกมารุมสกรัมว่า นายกฯลุงตู่ว่าแต่ “ทักษิณ” ที่จัดหนักแจกแหลกนโยบายประชานิยม แต่ถึงตอนนี้กลับทำเอง เข้าข่าย “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

เราจะเห็นการโจมตีจากนักการเมืองและนักวิชาการกันสนั่นเมือง ในการจ่ายเงินใส่บัตรสวัสดิการ ขนาดพ่อโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ทายาทคนโตของอดีตนายกฯทักษิณ ผู้เป็น “เบบี้การเมือง” ยังออกมาสกรัมว่า โอ้วคนจน รับเงิน 500 บาท แต่เลือกพรรคเพื่อไทย สะท้อนว่ายาชุดแบบนี้ ทำเอาการเมืองสะท้านสะเทือน

ล่าสุดมีการคืนเงินภาษีแวตให้กับคนยากจนไปอีก 3.5 แสนคน คนละไม่เกิน 500 บาท ในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เรียกว่าใส่เงินเยียวยาลงไปที่หัวใจของคนจนแบบเต็มๆไม่มีหัวคิว

ประเด็นที่ผมชวนขบคิดคือ การดำเนินการในรูปแบบนี้ควรทำหรือไม่ และเป็นประชานิยมที่ถมเงินไม่เต็มหรือประยุทธ์นิยม ที่จัดนโยบายออกมาดูแลคนจนที่ไร้ทางออกของรัฐที่ดีกันแน่
ประยุทธ์นิยม-10 ผมพาไปดูยุทธวิธีทางการเมืองในช่วงปลายปี 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศนโยบายปฏิบัติการ “ประชาวิวัฒน์” เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อ คือ

1. การเข้าถึงระบบประกันสังคม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่นอกระบบ ให้ประชาชนสมทบเงิน 100 บาทต่อเดือน เข้าระบบประกันสังคม

2. การเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะคนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่เป็นธรรม

3. การขึ้นทะเบียนและจัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสวัสดิการ ประเดิมพื้นที่ กทม.

4. เพิ่มจุดผ่อนผันให้ผู้ค้าจำนวน 2 หมื่นราย มีพื้นที่ค้าขายเพื่อลดรายจ่ายนอกระบบ และพัฒนาให้เป็นจุดท่องเที่ยว

5. การแก้ปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะการแก้ปัญหากองทุนนํ้ามันฯ โดยจะมีการยกเลิกการตรึงราคา LPG ในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังตรึงราคาภาคครัวเรือนและขนส่งต่อไป

6. การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับคนที่ใช้ตํ่ากว่า 90 หน่วย อย่างถาวร โดยการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม 7. อาหารในส่วนของผู้ประกอบการ โดยจะดูแลให้ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 8. อาหารในส่วนของผู้บริโภคจะต้องมีทางเลือกมากขึ้น ต้องมีการเปิดเผยต้นทุนการผลิต ต้องมีความโปร่งใส

9. การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาจุดเสี่ยงกว่า 200 จุด จะมีการบูรณาการ การเพิ่มบุคลากรในการตรวจตราเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งจะใช้งบ 200 - 300 ล้านบาท โดยตั้งเป้าลดปัญหาอาชญากรรมได้ 20% ภายใน 6 เดือน

พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า ปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ เป็นนโยบายที่ “ยั่งยืน” และ “สมเหตุสมผล” ต่างกับ “ประชานิยม” ที่เป็นนโยบายที่กำหนดโดยนักการเมืองเพื่อเอาใจประชาชน มุ่งเน้นไปที่จุดประสงค์ในการหาเสียง

ท้ายสุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้สานต่อนโยบายประชาวิวัฒน์นี้ เนื่องจากพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

ช่วงปี 2557 เกิดสุญญากาศทางการเมือง รัฐบาลเพื่อไทยทิ้งทวนเร่งจ่ายโบนัสข้าราชการ โดยระบุว่าได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ว่าเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยทำให้นโยบายของรัฐดำเนินการบรรลุเป้าหมายได้ จึงจัดสรรเงินงบประมาณเป็นเงินรางวัลเพื่อจ่ายให้กับบุคลากรภาครัฐ และมอบให้กรมบัญชีกลางรีบจ่ายเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2555 ให้ทันภายในไตรมาส1 ของปีงบประมาณ 2557 เป็นเงินทั้งสิ้น 3,745 ล้านบาท

จะเห็นว่าแนวการจัดงบไปช่วยเหลือแตกต่างกันตามยุคสมัย

[caption id="attachment_361909" align="aligncenter" width="650"] ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ[/caption]

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การจะรู้ว่าประชานิยมหรือสวัสดิการคนจนให้ดูจาก 2 สิ่งนี้ สวัสดิการ มีรากศัพท์มาจากภาษากัมพูชา หมายถึง การสบายดี การอยู่ดี มีสุข สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมาจากรัฐบาลก็ได้ แต่ในความคิดคนไทยปัจจุบันถูกหล่อหลอมมาให้เข้าใจว่า สวัสดิการเป็นสิ่งที่รัฐบาลจัดให้

ส่วนประชานิยม มีรากศัพท์มาจาก Na Rodnik ของรัสเซีย หรือนิยมประชาชน หมายถึงประชาชนเป็นใหญ่ แต่ในสังคมโลกมักค่อนข้างติดลบเพราะนักการเมือง ใช้วิธีสร้างลดแลกแจกแถมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนนิยมในตัวเขา และใช้อำนาจของประชาชนเลือกตัวเขาขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ

ณรงค์บอกว่า การจะช่วยเหลือคนจน ต้องดูก่อนว่าคนจนคือใคร นักเศรษฐศาสตร์มักนิยามคนจนว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่แท้จริงแล้วคนมีรายได้น้อยตามต่างจังหวัด มีจำนวนมากไม่มีปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ คนที่ถือเป็นคนจนที่แท้จริงต้องดูว่าคนเหล่านั้นเป็นคนด้อยสิทธิ ด้อยทรัพย์ และด้อยโอกาสหรือไม่ การจัดสรรงบไปดูแลจึงเป็นเรื่องสมควร

คุณละคิดว่า นโยบายประยุทธ์นิยมที่ถูกออกแบบมาในลักษณะรัฐสวัดิการแบบลุงตู่ ไปใช้เพื่อแลกกับความนิยม คะแนนเสียง สร้างความพอใจ และสร้างทัศนคติให้ประชาชนเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือหรือไม่

การจัดเงินไปให้คนด้อยโอกาสที่มาขึ้นทะเบียนและแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีรายได้ตํ่ากว่าเกณฑ์มาตรฐาน

เป็นนโยบายประชานิยมที่ดี หรือสวัสดิการโดยรัฐที่พึงกระทำ

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3427 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-19 ธ.ค.2561 
595959859