GDP SME ไตรมาส3ยังขยายตัวดี

15 ธ.ค. 2561 | 04:07 น.
การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่โตต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP SME ไตรมาส3 ยังขยายตัวได้ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการ ยอดจำหน่ายและกำไรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนี TSSI เดือนตุลาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งในภาคการค้าส่งและภาคบริการ

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึง มูลค่า GDP SME ไตรมาสที่สามของปี 2561 ขยายตัวได้ 4.8% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยที่ขยายตัว 5.0% โดยมีมูลค่า 1.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43.0% ของ GDP รวมทั้งประเทศ ขยับเพิ่มขึ้นจาก 42.1% ในไตรมาสที่แล้ว ตามที่สภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่สามของปี 2561 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการขยายตัว 3.3% ทั้งนี้ปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวลงของภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน การส่งออกสินค้าหดตัวลงเล็กน้อย 0.1% ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัว 10.7%

suw

ในส่วนของสาขาธุรกิจ SME ที่ขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่แล้ว ได้แก่ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ ที่ขยายตัว 4.8% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.5% มาจากการขยายตัวของธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนและนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโฆษณา ธุรกิจก่อสร้างที่ขยายตัวได้ 4.7% จาก 2.0% ในไตรมาสก่อน มาจากการขยายตัวจากธุรกิจก่อสร้างอาคารโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม

สาขาธุรกิจที่ชะลอตัวจากไตรมาสที่แล้วแต่ยังคงขยายตัวได้ดี คือ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง รวมทั้งธุรกิจซ่อมแซมของใช้ในครัวเรือน ที่ขยายตัว 7.2% ชะลอตัวเล็กน้อยจาก 7.3% ในไตรมาสที่แล้ว ธุรกิจขนส่งขยายตัว 6.2% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 6.8% ในไตรมาสก่อน มาจากการชะลอตัวของธุรกิจขนส่งทางบก ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า เป็นการชะลอตัวตามภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตเป็นหลัก
ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารขยายตัว 5.1% ชะลอลงจากไตรมาสที่แล้วที่ขยายตัว 6.7% ปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อ ก.ค. 2561 รวมทั้งนักท่องเที่ยวยุโรปส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนจุดหมายเพื่อเดินทางไปชมฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย อาเซียน และอเมริกายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ส่วน SME สาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 1.7% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.3% จากการหดตัวและชะลอตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมเบาที่สำคัญ ได้แก่การผลิตเครื่องดื่ม การผลิตสิ่งทอรวมทั้งการผลิตอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมวัตถุดิบได้แก่ การผลิตเคมีและเคมีภัณฑ์
แม้ว่า GDP SME ในไตรมาสนี้จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี GDP SME ยังขยายตัวได้ 5.3% ทั้งนี้ จากการที่อุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งมีบทบาทประมาณเกือบ 70% ของ GDP SME ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี ดังนั้น สสว. จึงประมาณการการเติบโต GDP SME ในปี 2561 เท่ากับ 5.2%

สำหรับปี 2562 คาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง มาจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคเอกชนไทย รวมทั้งชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีหน้า สสว. จึงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของ SME ในปี 2562 อยู่ระหว่าง 4.8% - 5.2%
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ในเดือนตุลาคม 2561 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากยอดขายสินค้าและกำไรที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยบวกในช่วงเดือนต.ค. เข้าสู่เทศกาลกินเจ ออกพรรษา และมีช่วงวันหยุดยาว 2 รอบ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดการท่องเที่ยวและใช้จ่ายสูงกว่าปกติ

090861-1927-9-335x503-335x503-2-335x503

อีกทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่ง ค่าดัชนีเดือนต.ค. อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่อยู่ที่ระดับ 89.2 ในภาคการค้าส่งและภาคบริการ โดยสาขาธุรกิจที่ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีค่าเกินค่าฐานที่ 100 ได้แก่ สาขาบริการการท่องเที่ยว การขนส่งมวลชน และโรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย และจากคู่แข่งขัน
สำหรับดัชนี TSSI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงสูงกว่าค่าฐานที่ 100 โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 111.6 จากองค์ประกอบด้านยอดขายสินค้าและกำไรที่ลดลง เนื่องจากได้มีการเร่งการใช้จ่ายไปแล้วในช่วงเทศกาลปีใหม่ในเดือนก่อนหน้า

ในการเปรียบเทียบดัชนีความเชื่อมั่นภาคการค้าและบริการของ SME กับดัชนีอื่นๆ ในเดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นของ SME ในภาคการค้าและบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ลดลง เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการส่งออกมีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิตและผลประกอบการลดลง อีกทั้งได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวลดน้อยลง ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัวลง

595959859