"บิ๊ก ส.อ.ท." วิเคราะห์ปี 62 'อาเซียน' เนื้อหอมต่างชาติแห่ลงทุน

16 ธ.ค. 2561 | 07:42 น.
| สัมภาษณ์ : งามตา สืบเชื้อวงค์

ท่ามกลางสมรภูมิโลกที่ร้อนระอุไปด้วยการแข่งขัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และข้อต่อรองทางการค้าตามกรอบการค้า ทำให้หลายประเทศพยายามสร้างจุดขายและจุดเด่นที่จะทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันมามอง ขณะที่ ปี 2562 กำลังจะเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย เพราะภาคเอกชนทั้งรายเล็ก รายใหญ่ จะต้องเดินหน้าธุรกิจในท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงมากมาย "สุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงโอกาสของประเทศไทยในท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและข้อเสนอแนะในการเตรียมพร้อมรับมือ!




111

ประธาน ส.อ.ท. มองว่า วันนี้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญทั้งปัจจัยเสี่ยงและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมาก อะไรก็ Disruption เราก็ต้องหันมามองในประเทศให้มาก ทั้งเรื่องทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้ได้ ตามกรอบ "อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล นวัตกรรมก้าวหน้า รักษ์สิ่งแวดล้อม" ที่เน้นเรื่องนวัตกรรมทั้งหมด โดยที่ภาครัฐให้ความร่วมมือด้วย เช่น กระทรวงวิทย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่วมกันดูเรื่องความเข้มแข็งและปัญหาของอุตสาหกรรม เช่น ล่าสุดเรื่องการต่ออายุ รง.4 ที่รัฐมนตรีอนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างบรรจุใน พ.ร.บ.โรงงาน ที่กำลังจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ทันในรัฐบาลนี้ ที่ต่อไปจะมีแบบฟอร์มให้กรอกผ่านอินเตอร์เน็ต จากที่เดิมปกติกระทรวงอุตสาหกรรมจะไปตรวจใบอนุญาต รง.4 ทุก 5 ปี ซึ่งจะมีขั้นตอนช้ามาก ผู้ประกอบการอาจเสียเวลา หรือ กรณีตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าจีนและอเมริกา ว่า มีผลทางบวกและทางลบอย่างไรบ้าง เพราะเวลานี้ดูแล้วไม่น่าจบลงง่าย ต้องมียืดเยื้อแน่นอน ตรงนี้ ส.อ.ท. ก็ไปสรุปผลดีและผลเสียต่ออุตสาหกรรมไทยในภาพรวม


เคลื่อนย้ายทุนจะเกิดโอกาส
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ศึกสงครามการค้าระหว่าง 2 บิ๊กผู้นำทางเศรษฐกิจ อย่าง จีนและอเมริกา ที่อาจกระทบต่อการค้าการลงทุนไปทั่วโลกนั้น เราต้องมองวิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะมั่นใจว่า ในมุมบวกที่จะเกิดขึ้น คือ เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนมาในภูมิภาคเซาธ์อีสต์เอเชีย หรือ อาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

จากการเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งนี้ มั่นใจว่า ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ได้เปรียบที่สุดในภูมิภาคนี้ และจะเป็นปัจจัยบวกที่น่าจับตามองมากที่สุด เนื่องจากกฏหมายอีอีซีผ่านแล้ว ต่อไประบบโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบความสะดวกสบายในการนำเข้า ส่งออก ระบบโลจิสติกส์เหล่านี้ต้องพร้อม เราต้องชัดเจน เพราะทุนที่เคลื่อนย้ายมาไม่ได้เข้ามายังประเทศไทยที่เดียว ดังนั้น ถ้าเราพร้อมก่อน เราก็จะได้เปรียบ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมที่สุดในแง่สถานที่ลงทุนและระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพียงแต่ยังมีความเสียเปรียบในแง่ความคล่องตัวในการแก้กฎระเบียบต่าง ๆ ในการลงทุน


มั่นใจทีม ศก. แต่ละพรรค
นอกจากนี้ ประธาน ส.อ.ท. ยังมองอีกว่า นโยบายของทีมเศรษฐกิจแต่ละพรรคการเมืองน่าจะมีนโยบายที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปี 2562 เมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ทีมเศรษฐกิจก็ต้องรีบออกมาขับเคลื่อนผลงานด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชน นักลงทุนไทยและต่างชาติยอมรับ ความเชื่อมั่นก็จะมา

อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง เช่น สงครามการค้าที่จะทำให้ไทยกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี รวมถึงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและปัญหาการเมืองภายในประเทศ ที่อาจทำให้ภาครัฐไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานได้เต็มที่ อีกทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ที่มีบทบาทมาก ที่เราต้องปรับตัวให้ทัน เพราะจะไปกระทบถึงผู้ใช้แรงงาน รวมถึงกระทบต่ออุตสาหกรรมเอสเอ็มอีที่ต้องเร่งปรับตัวให้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกตํ่า ทำให้กำลังซื้อรากหญ้าหายไป สิ่งเหล่านี้ยังเป็นความเสี่ยง


TP9-3427-A

รับมือปัจจัยเสี่ยงให้ได้
นายสุพันธุ์ กล่าวยํ้าว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เราจะต้องรับมือให้ได้ ไม่ว่าจะประกันความเสี่ยงในเรื่องการส่งออกไว้ล่วงหน้า เร่งปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการผลิต และร่วมมือกับภาครัฐในการวิจัยและพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมไปถึงการวิ่งหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และหาคู่ร่วมทุนหรือดึงมาเป็นพันธมิตรด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้องค์กรเข้มแข็งขึ้น เป็นต้น


ฟันธง ศก.โลก ไม่ดีเท่าปี 61
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลก ไม่น่าจะดีเท่ากับปี 2561 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ทำให้ทุกคนมองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น จะมีการทุ่มตลาดมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยที่น่าระวังของโลก

"เราต้องหันมาโฟกัสภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยปี 2562 จำเป็นต้องเร่งผลักดันสินค้าเกษตรให้มีราคาดี และสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่ตํ่าลง ดังนั้น รัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาคเกษตรให้ชัดเจน ทั้งนํ้า ปุ๋ย เทคโนโลยีการผลิต การวิจัยเกษตรแปรรูปให้มากขึ้น"

จีดีพีปี 2562 ไม่น่าจะโตสูงกว่าปี 2561 แต่ยังเติบโตอยู่ เราจะทำอย่างไรให้รายได้ประชากรต่อคนเติบโตถึง 7,000-8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี จากปัจจุบันยังยืนอยู่ที่ 5,000-6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังก้าวไม่พ้นผู้มีรายได้ปานกลาง เราจะต้องกระจายรายได้และลดความเหลื่อมลํ้าให้ได้

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,427 วันที่ 16-19 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว