กนง.ขึ้นดอกเบี้ย0.25%นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง19ธ.ค.มติ4ต่อ3

17 ธ.ค. 2561 | 02:05 น.
นักเศรษฐศาสตร์มองผลประชุมกนง. 19 ธ.ค. เห็นตรงกันขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็น 1.75% ด้วยมติ 4 ต่อ 3 ยันไม่ส่งผ่านแบงก์ใหญ่ เหตุสภาพคล่องเหลือ แต่เห็นแบงก์เล็กระดมเงินฝาก จ่อปล่อยสินเชื่อบุคคล-เช่าซื้อ เตือนระวังภาระหนี้ต่อรายได้เพิ่ม ด้านประธานธปท.ชี้ IT สร้างการเปลี่ยนแปลงการเงินอย่างมาก
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของปี ในวันที่ 19 ธันวาคม กำลังเป็นที่จับตา หลังจากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% แต่ด้วยมติ 4 ต่อ 3 เสียง โดย 3 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี เพราะเห็นว่า เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอแล้ว และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตตํ่ากว่าที่ควร “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับท่าทีของ
กนง.ต่อการประชุมครั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า เสียงส่วนใหญ่ของกนง.จะพิจารณาให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยมติเสียง 4 ต่อ 3 ซึ่งเป็นการจับสัญญาณจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เคยระบุว่า หากกนง.จะขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จริง ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนัก และนักเศรษฐศาสตร์ยังมองอีกว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะชะลอดูภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อก่อนจะปรับอีกครั้ง

MP24-3427-A-

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ ตลาดเงิน และตลาดทุนธนาคารกรุงไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กนง.จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในตลาดเงิน หลังส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาทั้งปี เพื่อไม่ทำให้ตลาดสับสน ซึ่งนอกจากรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายหรือ Policy Space แล้วเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่มาก เพราะถือว่าการลงทุนจุดติดแล้ว

“การส่งผ่านดอกเบี้ยไปยังระบบ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่คงไม่ปรับขึ้นตามทันที เพราะมีสภาพคล่องสูง แต่ธนาคารเล็กน่าจะปรับดอกเบี้ยและระดมเงินฝาก เพื่อปล่อยสินเชื่อบุคคลและรถยนต์ เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีหน้าจะไม่ดีเท่าปีนี้ และน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในครึ่งหลังปีหน้า”

 

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หลังปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ กนง.ต้องหยุดดูภาวะเศรษฐกิจ ถ้าตัวเลขออกมาดี จึงปรับดอกเบี้ยต่อได้ ซึ่งต้องจับทิศอัตราแลกเปลี่ยน แต่ช่วงการเลือกตั้ง ผู้สมัคร จะทำกิจกรรม หาเสียงคงมีเม็ดเงินสะพัดเศรษฐกิจท้องที่กระจาย
ทั่วประเทศ หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วในเดือนมีนาคม รัฐบาลใหม่คงจะเร่งเบิกจ่าย และจัดทำงบประมาณปี 2563 จะช่วยการใช้จ่ายในประเทศกลับมาได้เร็ว

[caption id="attachment_361488" align="aligncenter" width="336"] สมประวิณ มันประเสริฐ สมประวิณ มันประเสริฐ[/caption]

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เอื้อต่อการปรับนโยบายการเงิน สู่ระดับปกติ ซึ่งกนง.จะมีเสียงโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น แต่ไม่เป็นเอกฉันท์ สะท้อนถึงการเพิ่มดอกเบี้ยยังไม่เร่งตัวมาก เพราะมองไปข้างหน้า ยังมีความเสี่ยงเดิมๆและปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น ส่วนการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยขึ้นกับการเร่งตัวของความต้องการสินเชื่อและระดมเงินฝาก แต่คนที่เป็นหนี้อยู่แล้วโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย สัดส่วนหนี้ต่อรายได้จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องระมัดระวังภาระจากการปรับเพิ่มดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทยอยปรับเป็นอัตราลอยตัวแล้ว

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า กนง.จะไม่ปรับเพิ่มดอกเบี้ยแรงและเร็ว โดยหลักการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ เพื่อส่งสัญญาณให้คนระมัดระวัง ในแง่ของการลงทุนและก่อหนี้ ที่อาจประเมินความเสี่ยงตํ่ายาวนานกว่า 3 ปี และเพิ่ม Policy space โดยรอบนี้จะปรับดอกเบี้ยขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพแล้ว รอดูภาวะเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อ ซึ่งต้องจับตากรอบเงินเฟ้อใหม่ที่จะประกาศในเดือนธันวาคมนี้ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ปัจจุบันกรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% บวกลบไม่เกิน 1.5 หรืออยู่ในกรอบ 1-4%

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ระบบการเงินภาพใหญ่ยังเป็นไปตามสถานการณ์ของโลก ซึ่งอยู่ในช่วงการปรับตัวของนโยบายการเงินโดยสหรัฐฯทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก การค้าและปัจจัยเทคโนโลยีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงการเงินอย่างมากและกระทบทางผู้ใช้บริการและสถาบันผู้ให้บริการหรือสถาบันการเงินทั้งต่างประเทศและในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีทั่วไป การสร้างประโยชน์ในการลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้รวดเร็วแต่ความไม่แน่นอนของนวัตกรรมใหม่ๆ จะต้องระวังและเรียนรู้เพื่อปรับตัวและธุรกิจ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-13

“ปีหน้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจจะมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง แต่จีดีพีของไทยจะเติบโตได้ค่ากลางที่ 4% ซึ่งเป็นอัตราที่ดี ด้วยภาคการค้าการส่งออกและการบริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้จะไม่มากเท่า ปีนี้ที่คาดไว้ระดับ 4.2%”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,427 วันที่  16 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561

595959859