ทำไม AI ถึงเป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรงระดับโลก ???

14 ธ.ค. 2561 | 11:06 น.
141261-1733

[caption id="attachment_361423" align="aligncenter" width="394"] พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ[/caption]

| บทความพิเศษ : ทำไม AI ถึงเป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรงระดับโลก ???

| โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ


……………….

ความตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศ จะทวีความรุนแรงขึ้นในเรื่องสงครามการกีดกันทางการค้า (Trade War) โดยสหรัฐอเมริกาได้ทำการกดดันประเทศจีนในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีไมโครชิพ AI ซึ่งประเทศจีนมีนโยบายให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านไมโครชิพ AI เป็นอย่างมากมาก โดยบริษัท Huawei ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และระบบสื่อสารโทรคมนาคม กำลังครอบครองส่วนแบ่งการตลาดในระดับ Top 3 ของโลกแล้วในวันนี้ โดยประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นผู้นำด้าน AI อันดับ 1 ของโลก ภายในปี 2030

เหตุผลก็คือ ภายในปี 2025 ความก้าวหน้าของ AI และ Machine Learning จะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟนฉลาดขึ้นอย่างมาก ซึ่ง AI จะทำให้สมาร์ทโฟนมีความสามารถในการติดตาม ตีความ คาดการณ์ และตอบสนองต่อรูปแบบและแนวโน้มต่าง ๆ ได้ โดยที่มันรับรู้ได้ว่า ข้อมูลเหล่านั้นเป็นที่ต้องการของผู้ใช้คนที่ถือสมาร์ทโฟนคนนี้อยู่หรือไม่ ซึ่งสมาร์ทโฟนจะรับรู้ตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้แบบเรียลไทม์ จับคู่เปรียบเทียบข้อมูล เก็บข้อมูลใบหน้าและลายนิ้วมือ เรียนรู้ตลอดเวลาว่าคุณเป็นใคร มีการใช้สื่อรูปแบบใด และทำธุรกรรมทางการเงินอย่างไร

 

[caption id="attachment_361428" align="aligncenter" width="503"] ©Seanbatty ©Seanbatty[/caption]

โดย GSMA ได้คาดการณ์ว่า ภายใน 2020 โลกของเราจะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนถึง 73% ของประชากรโลกทั้งหมด (5.7 พันล้านคน) และข้อมูล Big Data เฉพาะบนโครงข่ายสมาร์ทโฟนจะมีการเชื่อมโยงอย่างหนาแน่นถึง 112% ของประชากรโลกทั้งหมด นั่นคือ จะมีจำนวน SIM ของสมาร์ทโฟนถึง 9.7 พันล้าน การเชื่อมต่อบนโครงข่าย (คาดว่าประเทศไทยจะมีจำนวนเลขหมายสมาร์ทโฟนกว่า 150 ล้านเลขหมาย ภายในปี 2020)

เมื่อ AI ทำงานร่วมกับ Big Data อย่างมีประสิทธิภาพบนอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์และสมาร์ทโฟน ก็จะเริ่มส่งผลกระทบนับจากนี้ไปในธุรกิจต่าง ๆ ในหลายอุตสาหกรรม เช่น สื่อ, โทรคมนาคม, การบริการทางการเงิน, โลจิสติกส์, ค้าปลีก, การแพทย์และสุขภาพ ไปจนถึงการศึกษา ตามลำดับ โดยทั้งนี้ก่อนถึงจุด Tipping Point (จุดเริ่มต้นที่มีผลกระทบอย่างชัดเจน) ของ AI ในปี 2025 นั้น AI จะส่งผลอย่างมากและชัดเจนในช่วงปี 2023 เนื่องจาก World Economic Forum ได้วิเคราะห์ว่าเป็นช่วงเวลาที่ Big data จะถึงจุดทะยาน (Tipping Point) ในปีดังกล่าว และจะส่งผลกระทบในการพลิกผันรูปแบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปีที่ AI และ Big Data ทะยานขึ้นพร้อมกันจนเกิดโมเมนตัมที่สุดในช่วงปี 2025

141261-1742
AI และ Data Analytics จะมีขีดความสามารถอันทรงพลังพร้อมกันในช่วงปี 2025-2030 จนอุตสาหกรรมรูปแบบดั้งเดิมจะถูกทำลายไปในหลายอุตสาหกรรม โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวนักอนาคตศาสตร์มักเรียกว่า "การทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction)" ทั้งนี้ เนื่องจาก AI จะสร้างงานรูปแบบใหม่จำนวนมากมาย โดยจากการวิเคราะห์ของ Gartner พบว่า จะมีงานในตำแหน่งรูปแบบใหม่มากกว่างานที่เอไอได้ทำลายให้หายไป

ประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะเป็นผู้นำด้าน AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ได้มีความชัดเจนว่า AI เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจีนมีเป้าหมายว่าจะเป็นหนึ่งในด้าน AI ของโลกภายในปี 2030 จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปต่างหวาดระแวงที่ประเทศจีนจะครอบครองตลาดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์และสามารถที่จะควบคุมการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ ในประเทศ จนทำให้สามารถที่จะโจมตีทางไซเบอร์ รวมทั้งยึดการทำงานบนระบบคลาวด์ของทั้งประเทศทุกประเทศได้อย่างง่ายดาย

 

[caption id="attachment_361433" align="aligncenter" width="503"] ©geralt ©geralt[/caption]

ดังนั้น AI จึงเป็นประเด็นสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงทำให้ความขัดแย้งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป


……………….
บทความ : ทำไม AI ถึงเป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรงระดับโลก ??? โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

บทความน่าสนใจ :

AI ตัวการก่อสงครามโลกครั้งที่ 3 ???
"องค์กรอัตโนมัติไร้ตัวตน"


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก