นิสสันปูพรมรถยนต์ไฟฟ้าส่ง‘โน๊ต อี-พาวเวอร์’ปลายปีหน้า- ยอดจอง‘ลีฟ’ร่วม30 คัน

17 ธ.ค. 2561 | 04:59 น.
นิสสัน เตรียมส่ง “โน๊ต อี-พาวเวอร์” ที่ผลิตภายใต้แพกเกจส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริด ลุยตลาดไทยปลายปีหน้า หลังปูทางสร้างภาพลักษณ์กับ “ลีฟ” ที่เพิ่งเก็บยอดจองจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2018 ไปเกือบ 30 คัน และส่งมอบลูกค้าเดือนเมษายนปีหน้า พร้อมเจาะลูกค้าหน่วยงานราชการ-เอกชน

ชัดเจนว่านิสสันเตรียมบุกตลาดยานยนต์สมัยใหม่ด้วย “ลีฟ” รถพลังไฟฟ้า “อีวี” ที่ขายดีที่สุดในโลก รวมถึงระบบไฮบริดแบบซีรีส์ ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กปั่นไฟไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่และขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือเทคโนโลยี  “อี-พาวเวอร์” (e-Power)

ในกลุ่มรถพลังไฟฟ้า “อีวี”ภายใต้แบรนด์รถยนต์ระดับโลกช่วงแรกยังเป็นการนำเข้ามาทำตลาด(ไม่นับน้องใหม่ “ฟอมม์”) เห็นได้จากค่ายเกาหลีอย่าง “ฮุนได ไอออนิค” ราคา 1.749 ล้านบาท “เกีย โซล” ราคา 2.297 ล้านบาท ที่ล้วนเป็นการทำตลาดผ่านผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

ส่วนการทำตลาดโดยบริษัทแม่ แน่นอนว่านำโดยนิสสัน ลีฟ ราคาขาย 1.99 ล้านบาท และปีหน้าจะได้เห็นการเปิดตัวอีวีจากฝั่งยุโรปอย่างน้อยๆ 3 รุ่นจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ อาวดี้ (ดิสตริบิวเตอร์-ไมซ์สเตอร์เทคนิค) และจากัวร์ (ดิสตริบิวเตอร์-อินช์เคป)

สำหรับ “ลีฟ” หลังนำไปเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2018 ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานว่าได้ยอด จองภายในงานนี้เกือบ30 คัน โดยจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้า

ทั้งนี้ นิสสันยังเน้นขายลีฟ ให้หน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชน ที่พยายามสื่อสารภาพลักษณ์เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะตัวรถไม่ปล่อยมลพิษเลย

นิสสัน ลีฟ เมื่อชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งรถสามารถวิ่งได้ 310 กิโลเมตร มาพร้อมรับประกันรถยนต์เป็นเวลา 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และรับประกันระบบไฟฟ้ารถยนต์ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และรับประกันการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่เป็นเวลา8 ปีหรือ 160,000 กิโลเมตร โดยนิสสัน ตั้งโชว์รูม-ศูนย์บริการ 33 แห่งทั่วประเทศ รองรับการขายและบริการหลังการขาย

MP32-3427-AA

นอกจาก ลีฟ ที่เมืองไทยได้สิทธิ์นำเข้ามาขาย ซึ่งมีอีกหลายประเทศในเอเชียไม่ได้รับโอกาสนี้ นิสสันยังเตรียมบุกตลาดรถยนต์ลูกผสมแบบไฮบริด หลังเคลียร์เป้าหมายและเงื่อนไขต่างๆกับรัฐบาลชัดเจน

โดยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นิสสันได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จากการขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่าลงทุน 10,960 ล้านบาท ภายในพื้นที่โรงงานนิสสันถนนบางนา-ตราด กม.21-22 จังหวัดสมุทรปราการ และในรายละเอียดของโครงการระบุว่า เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมรุ่น e-Power ที่เดิมมีฐานการผลิตแห่งเดียวที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกใช้กับรถยนต์รุ่น “โน๊ต ไมเนอร์เชนจ์”

อย่างไรก็ตาม การขึ้นไลน์ผลิต โน๊ต อี-พาวเวอร์ ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ อาจจะผิดแผนไปจากความตั้งใจแรกของนิสสันเล็กน้อย เพราะเดิมนิสสันอยากให้รถรุ่นนี้อยู่ในแพ็กเกจของรถยนต์ไฟฟ้าประเภท “อีวี”

นายอันตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เคยกล่าวว่า นิสสันเป็นผู้นำในรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) และ อี-พาวเวอร์ ซึ่งการที่จะทำให้รถประเภทนี้เกิดขึ้นได้ รัฐบาลต้องสนับสนุนแต้มต่อหรือสิทธิประโยชน์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของภาษีเพียงอย่างเดียว เหนืออื่นใดการจะตั้งฐานการผลิตในไทย ยังต้องสรรหาชิ้นส่วนภายในประเทศที่เป็นประเด็นสำคัญในการผลักดันรถพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นได้

“นิสสันต้องการทำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(หมายรวมถึงเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์) ให้ราคาเข้าถึงได้ง่าย ลูกค้าชาวไทยต้องมีโอกาสซื้อซึ่งเรากำลังพูดคุยกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแนะนำรถเข้าสู่ตลาดในระยะเวลาที่กำหนด โดยเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ จริงๆก็เหมือนลูกครึ่ง แต่ด้วยการทำงานและสมรรถนะเหมือนรถอีวี เราหวังว่ารัฐบาลจะจัดให้ โน๊ต อี-พาวเวอร์ถูกนับรวมเข้าไปที่กลุ่มอีวีเช่นกัน”นายบาร์เตส กล่าว

สำหรับ โน๊ต อี-พาวเวอร์ ยังใช้เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบขนาด 1.2 ลิตรที่ไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถ แต่จะช่วยปั่นกระแสไฟไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน พร้อมขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้แรงบิดสูงทันทีและคงที่ตลอดเวลา พร้อมอัตราการบริโภคนํ้ามันตํ่าเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ในรถยนต์ไฮบริดทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในเมือง

ขณะที่การตอบสนองของรถ หรือสมรรถนะการขับขี่จะคล้ายๆกับรถพลังไฟฟ้า “อีวี” ซึ่ง “โน๊ต อี-พาวเวอร์”  คาดว่าจะทำตลาดในไทยไม่เกินปลายปีหน้า

อนึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทวิเคราะห์ว่า รถยนต์ไฟฟ้า(ไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี) เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจและมีทิศทางที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากระดับราคาที่จับต้องได้ เพราะมีการสนับสนุนจากภาครัฐในการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่เอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงรถยนต์ประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น และภาพลักษณ์ของรถยนต์ที่อยู่ในกระแสของโลก ทำให้ตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

แอดฐานฯ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเมื่อจบปี 2561 นี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะมีจำนวนสูงกว่า 2.1 หมื่นคัน หรือขยายตัวกว่า 75% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2018 ที่เพิ่งจะจบไปนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการเร่งให้เกิดยอดขายของรถในกลุ่มนี้

ทั้งนี้อาจแบ่งประเภทของรถเป็นยอดขายรถไฮบริดประมาณ 12,200 คัน ขยายตัว 270% ขณะที่รถปลั๊ก-อินไฮบริดคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 8,745 คัน ขยายตัว 1% และรถยนต์ไฟฟ้า 55 คัน ขยายตัว 104%

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยฯยังประเมินว่าปี 2562 รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกทั้งการลงทุนของค่ายรถ และนโยบายรัฐที่สนับสนุน ทำให้ยอดขายของรถประเภทนี้โดยรวมมีโอกาสเติบโตกว่า 76-83% จากปี 2561 โดยแบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ไฮบริดประมาณ 25,100-26,050 คัน รถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด 11,500-12,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(อีวี) 400-450 คัน

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,427 วันที่  16 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว