'โอเปก' ผนึก 'รัสเซีย' ดันราคาน้ำมัน! พันธมิตรขั้วใหม่ในวันโดดเดี่ยวมะกัน (ตอนจบ)

17 ธ.ค. 2561 | 10:32 น.
| รายงานพิเศษ : 'โอเปก' ผนึก 'รัสเซีย' ดันราคาน้ำมัน! พันธมิตรขั้วใหม่ในวันโดดเดี่ยวมะกัน (ตอนจบ)

| โดย โต๊ะข่าวต่างประเทศ

……………….


ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" มีเป้าหมายให้สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานมาตั้งแต่ต้น และในขณะนี้เป้าหมายดังกล่าวก็กลายเป็นจริงแล้ว ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตนํ้ามันรายใหญ่ที่สุดในโลก (ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ) แม้ในช่วงที่นํ้ามันมีราคาปรับลดลง สหรัฐฯ ก็ยังคงผลิตนํ้ามันออกมามากขึ้น กระทั่งปลายสัปดาห์ที่แล้ว โอเปกและพันธมิตรนอกกลุ่ม นำโดย 'รัสเซีย' ได้มีข้อตกลงจะลดกำลังการผลิตลงมา เพื่อดันราคานํ้ามันที่ตกตํ่าให้สูงขึ้นไป

มีความคาดหมายว่า ราคานํ้ามันดิบโลกอาจจะขยับราคาสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 65-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในปีหน้า (2562) ขณะที่ ราคาเฉลี่ยของปี 2561 นี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 64.50 หรือเกือบ ๆ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาซื้อขายล่วงหน้านํ้ามันดิบ "เวสต์ เท็กซัส" (WTI) ของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 52.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ซึ่งถ้านับจากต้นปี ราคาเฉลี่ย WTI ปรับลดลงมาแล้ว 8.77%

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ปริมาณนํ้ามันจากสหรัฐฯ ที่ผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นนํ้ามันดิบที่สกัดจากชั้นหินใต้ดิน จะทำให้เกิดการถั่งโถมของอุปทาน ที่นักวิเคราะห์เรียกว่า "สึนามิของอุปทานนํ้ามันโลก" (Supply Tsunami) ในช่วงต้นปีหน้า และปริมาณการผลิตที่โอเปกและกลุ่มพันธมิตรตกลงกันว่าจะลดลงมานั้น ก็เป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอที่จะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น

 

[caption id="attachment_361141" align="aligncenter" width="503"] โดนัลด์ ทรัมป์ โดนัลด์ ทรัมป์[/caption]

"เห็นได้ชัดว่า ผู้ผลิตนํ้ามันจากชั้นหินใต้ดินของสหรัฐฯ เร่งผลิตกันออกมามากเกินความคาดหมาย ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา" โรเบิร์ต แมคนัลลี ประธานบริษัทวิจัยตลาดนํ้ามัน แรพพิแดน เอนเนอร์จี กรุ๊ป ให้ความเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซียแล้ว ประเทศสมาชิกรายอื่น ๆ ของโอเปก ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนักว่าจะลดการผลิตเท่าใด ดังนั้น ตลาดนํ้ามันโลกในปีหน้าจึงยังมีความเปราะบางและอาจเกิดความผันผวนด้านราคาได้ ปริมาณนํ้ามันอาจตึงตัวขึ้นได้ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันในเวลาพร้อม ๆ กันของประเทศผู้ผลิตนํ้ามันที่ยังมีปัญหาวิกฤติภายในประเทศ เช่น ลิเบีย ไนจีเรีย และอิรัก นอกจากนี้ ยังอาจเกิดความปั่นป่วนในตลาดนํ้ามันโลกได้ หากความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างซาอุฯ และอิหร่านปะทุขึ้นมา

แม้ว่าขณะนี้ ความเป็นผู้ทรงอิทธิพลของซาอุดิอาระเบียภายในกลุ่มโอเปกจะถูกท้าทาย ด้วยการประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มของ 'กาตาร์' ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2562 นี้ แต่โดยภาพรวมแล้ว ซาอุฯ ก็ยังคุมเกมได้ในระดับหนึ่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย ที่ยินยอมลดกำลังการผลิตร่วมด้วย ทำให้การประชุมลดกำลังการผลิตครั้งล่าสุดของโอเปกมีข้อตกลงเป็นชิ้นเป็นอันออกมาให้ตลาดลดความกังวลลงได้ในระดับหนึ่ง และมีผลให้ราคานํ้ามันปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงบทบาทและอิทธิพลของรัสเซียที่มีต่อกลุ่มโอเปกมากขึ้นด้วยเช่นกัน นักวิเคราะห์กล่าวว่า การยอมร่วมมือลดกำลังการผลิตของรัสเซียร่วมกับกลุ่มโอเปก ทำให้รัสเซียได้โอกาสทองที่จะเข้ามามีบทบาทและอำนาจเหนือตลาดนํ้ามันโลก เช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เองก็ต้องการ

ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" กล่าวว่า โลกไม่อยากเห็นราคานํ้ามันดิบที่สูงขึ้น เขาต้องการให้ราคานํ้ามันในตลาดโลกปรับลดลงมากกว่านี้ เพื่อเป็นเสมือนการลดภาษีให้กับอเมริกาและให้กับโลกด้วย สหรัฐฯ เองเป็นประเทศผู้นำเข้านํ้ามันดิบรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ในปีที่ผ่านมา (2560) โดยมีการนำเข้ารวมคิดเป็นมูลค่า 139,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รองจากอันดับ 1 คือ จีนที่นำเข้า 162,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ราคานํ้ามันที่ลดลงจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงลดลงก็จริงอยู่ แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกนํ้ามันรายใหญ่เช่นกัน ดังนั้น ในระยะยาว การกดราคานํ้ามันลงมาก็ไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศของสหรัฐฯ เอง รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

"เบอร์นาร์ด แอล ไวน์สไตน์" ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานแมคไกวเออร์ แห่งมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น เมโธดิสต์ ในเมืองดัลลัส สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า มติลดกำลังการผลิตล่าสุดของโอเปกอาจจะทำให้ราคานํ้ามันขยับสูงขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะพยากรณ์ราคานํ้ามันล่วงหน้ามากกว่า 1 เดือน ยิ่งผู้นำสหรัฐฯ พยายามมาพูดกดดันตลาดและแทรกแซงเศรษฐกิจโลก ก็ยิ่งยากที่จะคาดเดาอะไรได้ล่วงหน้า ยกตัวอย่าง เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาทวีตว่า ไม่ต้องการเห็นราคานํ้ามันสูงขึ้น ราคานํ้ามันก็ตกลงมาก "ทรัมป์เป็นปัจจัยที่ยากจะคาดเดา" นักวิเคราะห์กล่าว นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ราคานํ้ามันมักจะไม่รักษาระดับอยู่ได้นาน เพราะเมื่อกลุ่มโอเปกและพันธมิตรลดกำลังการผลิตลง สหรัฐฯ และประเทศนอกกลุ่ม เช่น บราซิล ก็จะเพิ่มการผลิตของตัวเอง ทำให้ราคาปรับลดลงมาอีก และถ้าหากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ สร้างแรงกดดันทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปีหน้า ก็เป็นไปได้อย่างมากที่สุด ว่า ราคานํ้ามันจะกลับเข้าสู่ขาลงอีกครั้ง


รายงานหน้า | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,427 ระหว่างวันที่ 16-19 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว