กกพ. เร่งออกระเบียบสนองรัฐ! กำกับ "พลังงาน" ให้ทันเทคโนโลยี

16 ธ.ค. 2561 | 08:05 น.
| รายงานพิเศษ

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 มีการเปิดตัวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชุดใหม่ อย่างเป็นทางการ หลังจากเข้ารับตำแหน่งครบ 3 เดือน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานหลังจากนี้ไป โดยท่าทีของ กกพ.ชุดใหม่นี้ จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมปรับแก้ระเบียบต่าง ๆ ที่ติดขัด สวนทางกับนโยบายของภาครัฐ


หนุนโซลาร์ประชาชน
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า จากที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ทั้งโซลาร์เสรีและโซลาร์ภาคประชาชน ทาง กกพ. จะเร่งออกระเบียบเพื่อรองรับการเปิดโครงการดังกล่าว พร้อมพิจารณาด้านเทคนิคและผลกระทบของระบบไฟฟ้า หลังจากที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว ซึ่งจะเริ่มรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ที่ 100 เมกะวัตต์ ก่อนทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2580


TP8-3427-B

โดยเบื้องต้นจะกำหนดให้ประชาชนขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ไม่เกิน 10 KVA (กิโลโวลต์แอมป์) ต่อบ้าน 1 หลัง และสามารถจ่ายไฟฟ้าย้อนกลับเข้าหม้อแปลงได้ไม่เกิน 15% ขณะที่ ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้

ส่วนโครงการโซลาร์เสรีที่ผลิตเองใช้เอง (IPS) กลุ่มดังกล่าวน่าจะมีอัตราการเติบโตรวดเร็ว โดยเฉพาะการติดตั้งบนหลังคาอาคารโรงงานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อต้องการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีกไฟฟ้า) ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อใช้เองหลายราย โดย กกพ. ต้องเร่งออกกฎระเบียบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และต้องพิจารณาว่าจะเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (แบล็กอัพ) หรือไม่ และกำหนดระเบียบอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ


ดึงเอกชนลงทุนบล็อกเชน
สำหรับกรณีผู้ประกอบการเอกชนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่ง กกพ. จะเชิญผู้ประกอบการเข้าหารือ เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการจัดทำระเบียบรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว ที่จำเป็นต้องแก้ไขระเบียบใดที่ติดขัด ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายในปี 2562 นอกจากนี้ การซื้อขายไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสถานีชาร์จก็เช่นกัน จะต้องมีความชัดเจนโดยเร็ว

 

[caption id="attachment_361087" align="aligncenter" width="503"] Solar panel against blue sky Solar panel against blue sky[/caption]

ออกใบอนุญาตเปิดเสรี LNG
ส่วนการเปิดเสรีการจำหน่ายและการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นั้น ไม่ใช่มีเพียงแต่รายใหญ่ อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในปริมาณมากเพียงเท่านั้น แต่ขณะนี้มีผู้ประกอบการรายเล็กที่ขนส่งแอลเอ็นจีโดยรถบรรทุกในปริมาณที่ไม่มากไปยังนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้วจัดเก็บไว้ในถังขนาดเล็ก ดังนั้น กกพ. จะเตรียมออกใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว

โดยการทบทวนใบอนุญาตรองรับเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กดำเนินธุรกิจซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจี พร้อมทั้งเปิดทางให้บุคคลที่ 3 สามารถนำเข้าแอลเอ็นจีเสรีได้ จากปัจจุบันมีเพียง 2 ราย ที่มีใบอนุญาต ได้แก่ ปตท. และ กฟผ.

"การออกใบอนุญาตรองรับการซื้อขายแอลเอ็นจีในปัจจุบันเป็นเพียงการรองรับการขนส่งก๊าซทางท่อเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้น หลังก๊าซในอ่าวไทยลดลง ซึ่งจะมีผู้ประกอบการรายเล็กเข้าสู่ธุรกิจมากขึ้น รูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไป เป็นการขนส่งแอลเอ็นจีจากรถบรรทุก จึงต้องออกใบอนุญาตรองรับ ซึ่งต้องมีความชัดเจนภายในปี 2562 นอกจากนี้ กกพ. จะมีการทบทวนอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซอยู่ที่ 20-21 บาทต่อล้านบีทียู คาดว่ามีแนวโน้มลดลง"


ออกระเบียบซื้อไฟฟ้า
สำหรับแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2562 ตามแผนพีดีพี 2018 คงต้องผ่านความเห็นชอบจาก กพช. ก่อน จากนั้น กกพ. จึงจะสามารถออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนที่ กกพ. จะต้องเร่งดำเนินการในส่วนของพลังงานทดแทน ปัจจุบัน กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนใน 8 พื้นที่ จำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตรวม 78 เมกะวัตต์ ขณะนี้มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าแล้ว 3 ราย แต่ให้กลับไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม 2 ราย และอนุญาตโครงการแล้ว 1 ราย ได้แก่ โครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ มีปริมาณขายไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการที่เหลือ กกพ. เปิดให้ทยอยยื่นเสนอโครงการจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2562


ไฟฟ้า

ใช้โครงสร้างค่าไฟใหม่
ขณะที่ การจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ภายหลังจากแผนพีดีพี 2018 ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. เรียบร้อยแล้ว กกพ. ก็จะเร่งจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจะมีการทบทวนทุก 3-5 ปี คาดว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2562 และเริ่มใช้ได้ภายในครึ่งหลังของปี 2562

ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ปี 2562 ยังต้องรอดูต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติย้อนหลัง 6-12 เดือน ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งค่าเงินบาทที่จะมีผลต่อค่าเอฟทีในอนาคต ส่วนกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนที่จะเริ่มทยอยเข้ามาในปี 2562 ซึ่งยังไม่ได้กำหนดราคารับซื้อ หากอัตราตํ่ากว่าราคาขายส่งของ กฟผ. จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟ

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,427 วันที่ 16-19 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว