ต่างชาติตุนพันธบัตรไทย! ถือครองเฉียด 1 ล้านล้าน เหตุตลาดเป็นเอกเทศ

16 ธ.ค. 2561 | 02:42 น.
สมาคมตราสารหนี้ ยัน! ตลาดบอนด์ไทยไม่กระทบจาก "ยีลด์ เคิร์ฟ" พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับหัว เหตุไทยแยกตลาดจากสหรัฐฯ ชัดเจน ต่างชาติยังซื้อบอนด์ไทยต่อเนื่อง ยอดล่าสุดเกือบ 1 ล้านล้านบาท

วันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐฯ สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว หรือที่เรียกว่า Yield Curve Inversion หรือ "ยีลด์เคิร์ฟ กลับหัว" นั่นคือ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 3 ปี ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.81% ขณะที่ 5 ปี กลับมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.79% ทั้งที่ผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตรยิ่งนาน อัตราผลตอบแทนย่อมสูงกว่าระยะสั้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนความกังวลว่า จะเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ปรับขึ้นแรง เพราะเศรษฐกิจยังไม่ได้โตเต็มที่ ขณะเดียวกันจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบในช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการ QE ทำให้มีการซื้อพันธบัตรระยะยาวจำนวนมาก ยีลด์เคิร์ฟจึงไม่ขยับ


MP19-3427-A

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ปกติอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 2 ปี และ 10 ปี จะห่างกันมาก แต่ถ้าเริ่มเข้าใกล้กันถึงขั้นติดลบ จะบอกว่าตลาดคาดการณ์ว่า หลังจากนี้ 2 ปี เศรษฐกิจจะแย่ เป็นการสะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มถึงจุดอิ่มตัวและจะเข้าสู่ระยะถดถอย ซึ่งผลกระทบต่อไทยจะมีไม่มาก นักลงทุนต่างชาติยังซื้อพันธบัตรไทยต่อเนื่อง ยอดถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติปัจจุบันเกือบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกับสหรัฐฯ เป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน เมื่อเทียบกับอดีตที่เศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางเดียวกัน เพราะยังต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเป็นแหล่งเงิน เพราะการออมน้อย

"สิ่งที่เกิดขึ้น คนที่ปวดหัวน่าจะเป็นสหรัฐฯ มากกว่าเรา ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะหุ้นขึ้นไปมาก มีการใส่เงินเข้าไปในระบบมาก ขณะที่ การขาดดุลการค้าและขาดดุลการคลังยังมีต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจเป็นการมองล่วงหน้า ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นในปีนี้เป็นผลจากการปรับลดภาษี จึงคาดว่า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนน่าจะออกมาดี ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นแล้ว และจะไม่ต่อเนื่องถึงปีหน้า"

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าในปีหน้า คือ ผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทย เพราะเริ่มเกิดความไม่แน่นอน ทำให้ทุกประเทศชะลอการบริโภคลง และปีหน้าหากมีการขึ้นภาษีจากสินค้านำเข้าจากจีน คนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ คือ คนในประเทศสหรัฐฯ เอง


แอดฐานฯ

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนตราสารระยะสั้นของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือน ธ.ค. ขณะที่ ตราสารอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี ผลตอบแทนลดลงตามแรงซื้อ หลังประธานธนาคารเฟดส่งสัญญาณลดความถี่ในการขึ้นดอกเบี้ย ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงระหว่างรอผลการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ และมุมมองของตลาดที่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯฯ มีแนวโน้มชะลอตัว

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,427 วันที่ 16-19 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว