"รัฐ-ค่ายมือถือ" จับคู่ทดสอบนำร่อง 5G

16 ธ.ค. 2561 | 04:17 น.
ดูเหมือนว่าในห้วงเวลานี้ หน่วยงานภาครัฐอย่าง กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เร่งเครื่องประมูลคลื่นความถี่ 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G ภายในปี 2563

ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลคลื่นความถี่ ไฟเขียวให้บรรดาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนติดตั้งและทดสอบก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

เหตุผลที่ กสทช. เปิดให้ทดสอบก็เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมกับการ Disrupt (ดิสรัปต์) ของเทคโนโลยีที่ใคร ๆ ก็เชื่อว่า 5G จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธุรกิจหลายอย่าง เนื่องจากมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลกว่าระบบ 4G


ค่ายมือถือเร่งทดสอบ 5G
ก่อนหน้านี้ ค่ายมือถือต่างเร่งเดินหน้านำร่องทดลองทดสอบการใช้งาน 5G โดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้ทำการทดสอบบนคลื่นความถี่ในย่าน 26 GHz  ที่ ดิ เอ็มโพเรียม ในวันที่ 22 พ.ย. - 15 ธ.ค. 2561 บนอุปกรณ์ของ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด เช่นเดียวกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช ที่ได้จัดให้มีการทดสอบ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 28 GHz  ที่ไอคอนสยาม โดยใช้กำลังส่งเพื่อการทดสอบไม่เกิน 23 dBm (200 มิลลิวัตต์) ที่ได้ร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในการใช้งานอุปกรณ์ เพื่อนำมาใช้ในการจัดแสดงและสาธิต


ดีแทคนำร่อง MIMO
ขณะที่ นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า ทางดีแทคนั้นต้องการที่จะทดสอบ 5G ในกรณีศึกษาจริง ไม่ใช่แค่เพียงการจัดแสดงโชว์เทคโนโลยีใหม่เท่านั้น และต้องใช้เวลาในการหาพาร์ตเนอร์เพื่อร่วมทดสอบ โดยมองว่าไม่ได้ช้าเกินไป เพราะในเชิงเทคนิคสามารถปรับใช้เทคโนโลยี 5G ได้ทันที อีกทั้งขณะนี้ ดีแทคก็ได้มีการนำร่องใช้งาน 5G แล้วกับคลื่นความถี่เดิมที่ถือครองอยู่ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี Massive MIMO ตลอดจนโครงการความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ใช้บริการในอุตสาหกรรมมีความพร้อมหรือไม่


ก.ดีอี ดึงญี่ปุ่นทดสอบ 5G
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ทางกระทรวงดิจิทัลฯ มีนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G โดยระยะแรกได้มีแผนการจัดตั้ง 5G TestBed ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เบื้องต้น คาดว่าจะทดสอบบนคลื่นความถี่ในย่านหลัก 3 คลื่น ได้แก่ ย่านความถี่ 3.4-3.6 GHz / 26-28 GHz และ 7-9 GHz โดยจะจัดตั้งศูนย์กลางการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยมีแผนที่จะทดสอบภาคสนามกลางปี 2562 ซึ่งได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม 3 รายใหญ่ คือ อีริคสัน หัวเว่ย และโนเกีย รวมทั้ง Dassult ประเทศฝรั่งเศส


MP20-3427-A

ทั้งนี้ ในงานประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หลังจากที่ได้มีการหารือทวิภาคีกับ นายคัทซูยา วาตานาเบะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง Internal Affair and Communications ของประเทศญี่ปุ่น ในประเด็นการทดสอบเทคโนโลยี 5G ร่วมกัน ในพื้นที่ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ในเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยทั้ง 2 ประเทศ ยินดีที่จะร่วมกันทดสอบ 5G ที่ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ 5G Regulatory Sandbox ในพื้นที่อีอีซี พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรร่วมกันผ่านคอนซอร์เตียมของทั้ง 2 ประเทศ ไปจนถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำ 5G ไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ โดยการทดสอบ 5G ร่วมกันที่ศรีราชานั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์


กสทช. MOU จุฬาฯ ลุย 5G
ขณะที่ ทางสำนักงาน กสทช. โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี โดยจะดำเนินการศึกษา ทดสอบและตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ ระบบ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G ได้แก่ อุปกรณ์เชื่อมต่อ Internet of Things (IoT) ระบบการจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System : ITS) ระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) เพื่อเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งและรองรับการเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เทคโนโลยี 5G ให้ทันภายในปี 2563 ซึ่งคลื่นความถี่ที่ใช้ในการทดสอบ คือ ย่าน 26-28 GHz คาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ประมาณ 40-50 ล้านบาท โดยเป็นเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.)


ต่อยอดพัฒนาเทเลเมดิซิน
ด้าน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือในการตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ในครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ และให้สอดคล้องไปกับการพัฒนามหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart University) โดยศูนย์ทดสอบนี้จะเป็นลักษณะของ Open Platform เพื่อพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศเกี่ยวกับ 5G ทั้งนี้ เดิมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการให้บริการรักษาทางไกล (Telemedicine) อยู่แล้ว ซึ่งการนำ 5G มาใช้จะช่วยเพิ่มความรวดเร็ว ความแม่นยำ และระยะเวลาในการตอบสนองต่อการรักษา เนื่องจากปัจจุบันบริการสาธารณสุขเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยจะเน้นรักษา 4 โรคหลัก คือ เบาหวาน ความดัน โรคผิวหนัง และโรคตา ซึ่งเป็น 70-80% ของโรคที่ผู้ป่วยต้องการพบแพทย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแผนดำเนินการ คาดว่าจะจัดตั้งศูนย์ทดสอบได้ภายในปี 2562 ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบจะมีบทบาท 3 ด้าน คือ การทดสอบทดลองและวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี การพัฒนาและทดสอบรูปแบบการใช้งาน (Use Case) และการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

รายงานหน้า | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,427 ระหว่างวันที่ 16-19 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว