รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | สภาอังกฤษเลื่อนลงมติ Brexit ลางบอกเหตุวิกฤติเศรษฐกิจโลก?

15 ธ.ค. 2561 | 04:30 น.
| รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย : สภาอังกฤษเลื่อนลงมติ Brexit ลางบอกเหตุวิกฤติเศรษฐกิจโลก?

| โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

……………….


ถึงแม้ว่าบทความชุดไตรภาคเกี่ยวกับ Brexit ของผมจะจบลงไปในฉบับที่แล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ Theresa May นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศกลางสภา เพื่อเลื่อนกำหนดระยะเวลาที่จะให้สภาลงมติในการที่จะกำหนดว่า การแยกตัวของ UK จาก EU นั้น จะเป็นการแยกตัวแบบมีข้อตกลง (With Deal) หรือ แบบไม่มีข้อตกลง (With No Deal) ออกไปก่อน ซึ่งเธอได้ยอมรับในสภาอย่างตรงไปตรงมา ว่า หากปล่อยให้มีการโหวตในวันนี้ ความพยายามที่รัฐบาลได้ดำเนินการเจรจาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้การแยกตัวออกจาก EU เป็นไปแบบมีข้อตกลง คงต้องแพ้โหวตอย่างแน่นอน

 

[caption id="attachment_361035" align="aligncenter" width="503"] เทเรซา เมย์ เทเรซา เมย์[/caption]

หลายท่านคงสงสัยว่า มีเหตุผลอะไรทำให้รัฐบาลอังกฤษเกิดความไม่มั่นใจถึงขั้นที่ต้องมีการเลื่อนการโหวตในครั้งนี้ แล้วจะเลื่อนไปถึงเมื่อไหร่ และเรื่องนี้จะมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อคลายข้อข้องใจในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้

ประเด็นแรกที่อยากทำความเข้าใจก่อน คือ หลายคนอาจคิดว่า ก็เมื่อประชาชนเสียงข้างมากเลือกที่จะให้ UK แยกตัวจาก EU อยู่แล้ว ผู้แทนของประชาชนดังกล่าวย่อมต้องโหวตในสภา เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เรื่องนี้มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เนื่องจากตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษมีความพยายามในการเจรจาที่จะให้การแยกตัวจากการเป็นสมาชิกของ EU เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด จึงมีการเจรจาให้บางเรื่อง เช่น เรื่องข้อตกลงในทางการค้า ที่ต้องการใช้ข้อกำหนดเสมือนว่ายังมีสถานะเป็นสมาชิกของ Custom Union อยู่ โดยเฉพาะในส่วนของไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของ UK

และจริง ๆ แล้ว รัฐบาลอังกฤษเองก็มีความพยายามให้เรื่องดังกล่าวมีการขยายให้ครอบคลุมทั่ว UK ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า การต่อรองขอสิทธิพิเศษให้มีสถานะเสมือนความเป็นสมาชิกของ Custom Union อยู่นั้น จะทำให้ UK ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการค้าที่ออกโดย EU อยู่ ซึ่งเรื่องนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์หลักของการแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพที่จะทำให้ UK กลับมามีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ ทั้งในส่วนของอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ อย่างที่ตั้งใจ จึงส่งผลให้ผู้แทนในสภาจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้

ปัญหาที่ทำให้รัฐบาลเกิดความกังวลต่อผลโหวตเกิดขึ้น เนื่องจากว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวตั้งแต่แรก ย่อมโหวตไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลเสนออยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ สมาชิกสภาที่เห็นด้วยกับการแยกตัว แต่ไม่เห็นด้วยกับความพยายามของรัฐบาลในการเจรจาเพื่อให้ ไอร์แลนด์เหนือ หรือ ทั่วทั้ง UK ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการค้าที่ EU เป็นผู้กำหนด ทำให้หลังจากการแยกตัวแล้วอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินนโยบายทางการค้าของประเทศยังคงอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ EU

โดยเมื่อรวมสมาชิกสภาที่ไม่เห็นด้วยแต่แรกเข้ากับสมาชิกสภาที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาของรัฐบาลที่มีทั้งในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ย่อมจะกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีอังกฤษจึงรู้ว่าการดันทุรังที่จะปล่อยให้มีการลงคะแนนในเรื่องนี้ตามกำหนดระยะเวลาเดิมนั้น รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหามากกว่า จึงตัดสินใจซื้อเวลา ด้วยการประกาศเลื่อนการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ออกไปก่อน โดยได้ยืนยันว่า รัฐบาลจะจัดให้สภามีการลงมติในประเด็นนี้ภายในวันที่ 21 ม.ค. 2562

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายระหว่างประเทศ มองว่า ตอนนี้รัฐบาลอังกฤษเข้าสู่ภาวะ "กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" เพราะในโลกของการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน ถ้า UK มุ่งที่จะเดินหน้าถอนตัวออกจากสมาชิกภาพของ EU อย่างเต็มกำลัง โดยไม่ยอมอยู่ภายใต้ข้อกำหนดทางการค้าของ EU เลย การค้าทั้งในส่วนของการส่งออกและนำเข้าระหว่าง UK และ EU ที่มีกว่า 50% ย่อมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแน่นอน และในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง


S__9814020

ในประเด็นนี้ถึงจะมีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนของ UK ถึงความกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากแยกตัว แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ได้ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นในสภาแล้วว่า จะไม่มีการจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องนี้อีก โดยรัฐบาลพยายามที่จะหาทางออกที่ดีที่สุด ด้วยการเจรจากับ EU เพื่อให้ประเทศได้รับเงื่อนไขที่ดีที่สุด หรือ จริง ๆ แล้ว ต้องเรียกว่า ได้รับเงื่อนไขที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศน้อยที่สุด

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่า ความพยายามนี้อาจเสียเปล่า เพราะหากรัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับสภาได้มากกว่าที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้สูงมากว่าเสียงส่วนใหญ่ของสภาจะโหวตให้การแยกตัวนั้นเป็นไปแบบไม่มีข้อตกลง (With No Deal) และอาจจะเป็นชนวนไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้

จะเห็นได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษเพียงประกาศเลื่อนการลงมติของสภาในวันจันทร์ที่ผ่านมา ค่าเงินของอังกฤษและหุ้นก็ตอบสนองในด้านลบกับข่าวนี้ในทันที หรือนี่จะเป็นลางบอกเหตุที่เราควรต้องเตรียมตัวรับมือกับการที่อังกฤษจะต้องแยกตัวออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง ซึ่งแน่นอนว่า เหตุการณ์นี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและประเทศสมาชิกของ EU ในวงกว้าง

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนว่า การที่รัฐบาลอังกฤษซื้อเวลาออกไปในช่วงนี้ก็ยังคงยากที่จะเปลี่ยนท่าทีของสมาชิกสภาที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ประโยคหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกันนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่กล่าวในสภา คือ ตอนนี้สมาชิกสภาทุกคนควรต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เพื่อให้เราสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปให้ได้

ผมหวังว่า ลางบอกเหตุครั้งนี้จะไม่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้น หนทางที่น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจากการแยกตัวของ UK จาก EU และก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษ ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป และประชาคมโลก คือ การแยกตัวแบบมีข้อตกลงระหว่าง UK และ EU

ผมหวังว่า เมื่อถึงเวลาลงมติเรื่องนี้ในต้นปีหน้า สมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทั้งหลายจะได้ก้าวข้ามประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง และมุ่งที่จะปกป้องปากท้องของประชาชนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเหนือปัญหาอื่นใดนะครับ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,427 วันที่ 16 - 19 ธ.ค. 2561 หน้า 07

บทความน่าสนใจ :
รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน! บทบาท WTO และผลกระทบ ศก.ไทย
รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | มุมมองต่อข้อเสนอ ให้อัยการร่วมสอบสวนกับตำรวจ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว