เปิดยุทธศาสตร์ สสว. ปี 62! ลุย SPEED โมเดล เพิ่มมูลค่าเอสเอ็มอี 5 เท่า

17 ธ.ค. 2561 | 02:38 น.
 

"การทำงานภายใต้ชายคาบ้านหลังใหม่ ที่มีชื่อว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ต้องมีการปรับตัวมากพอสมควร เพราะมีความแตกต่างกันในเรื่องของกรอบในการทำงาน จากเดิมที่อยู่สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม : ISMED จะมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอแนวความคิด หรือ ไอเดีย เพื่อหางบประมาณ ซึ่งการนำเสนอไอเดียยังถูกนำมาใช้ได้ที่ สสว. โดยสิ่งที่ สสว. มีความแตกต่างก็คือ การมีหน่วยงานร่วมจำนวนมากที่คอยสนับสนุนยุทธศาสตร์เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ตามความรู้ความสามารถของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมาจากการขยายผลตามแผนงานของ สสว. ที่ปักธงเอาไว้"

คำบอกเล่าจาก "สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล" หลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สสว. ได้กว่า 1 ปี จากมติเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมฉายภาพการทำงานผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการพัฒนาเอสเอ็มอีตามแผนงานปี 2562


SME4

ส่ง SPEED ช่วยเอสเอ็มอี
ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ตลอดทั้งปี 2561 สสว. ทำงานมติเชิงลึกในการพัฒนาเอสเอ็มอี โดยดูจากโพรไฟล์ของเอสเอ็มอีทุกรายที่เข้ามามาสู่โครงการ ซึ่งนำไปสู่กลไกในการสร้างรูปแบบยุทธศาสตร์ในปี 2562 ภายใต้คำว่า "SPEED" ซึ่งจะประกอบไปด้วย Smart (ฉลาดรอบรู้), Proactive (การทำงานเชิงรุก), Efficiency (มีประสิทธิภาพ), Exclusive (มีความพิเศษและ Digitalization (ปรับกระบวนการทำงานสู่ระบบดิจิตอล) เป็นกลไกหลัก รวมทั้งจะเปลี่ยนคำว่า Start up เป็นคำว่า Born โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

1.Born Strong คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้วยความแตกต่าง มีความโดดเด่น การสร้างมูลค่าเพิ่ม การกำหนดกลยุทธ์ราคา มีความสร้างสรรค์ มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน หรือ มีงานวิจัยมาสนับสนุน ซึ่งจะเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนความเข้มแข็งของธุรกิจ 2.Born Global คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่จะทราบว่า สินค้าตนเองเหมาะกับตลาดไหนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ซึ่ง สสว. จะวางแพลตฟอร์มดิจิตอลขึ้นมาเชื่อมโยงได้

3.Born Digital คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น e-Commerce โดยปีที่ผ่านมา สสว. จัดอบรมผู้ประกอบการ 50,000 ราย ให้เข้าใจระบบการตลาดผ่านช่องทางดังกล่าว และทำให้มีผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการกว่า 100,000 ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายทางออนไลน์ ซึ่ง สสว. จะติดตามยอดขายของทั้ง 3 กลุ่ม ใน 300 วัน ว่า ยอดขายเป็นอย่างไร และไปสู่ความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้หาแนวทางในการยกระดับผู้ประกอบการ

4.Born General คือ ผู้ที่เริ่มต้นสนใจเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งต้องเริ่มจากความตั้งใจที่จะเรียนรู้เป็นผู้ประกอบการ มาสู่การเข้าใจกลไกและถ้าใครมีความสามารถ สสว. จะผลักดันให้เข้ากลุ่มหลัก 3 กลุ่มแรก และ 5.Born@50 plus จับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมีแนวทาง คือ การสร้างผู้ประกอบการใหม่ในวัยดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า อนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่อาจไม่มีการวางแผนหลังเกษียณ และหาก สสว. วางแผนให้คนกลุ่มนี้ก่อน 10 ปีล่วงหน้า กลุ่มนี้ก็จะเข้าใจกลไกการทำธุรกิจเพื่อรองรับชีวิตหลังเกษียณได้


เล็งของบเพิ่ม 2 พันล้าน ปี 63
สุวรรณชัย บอกต่อไปอีกว่า ภายใต้การทำงานดังกล่าวจะเป็นการทำงานเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Modernization) โดยคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมและพัฒนากว่า 280,000 ราย และเกิดมูลค่าเพิ่มกว่า 5 พันล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดประมาณ 1.23 พันล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม Micro SME กลุ่ม Small และกลุ่ม Medium

"ปี 2562 สสว. ตั้งใจว่าจะเข้าถึงไมโครให้มากขึ้น เพื่อนำกระบวนการคิดไปจับในแต่ละกลุ่มท้องถิ่น กลุ่มจังหวัดและกลุ่มชุมชนที่เป็นไมโคร โดยคาดหวังว่าในปี 2563 สสว. จะสร้างสะพานที่แข็งแรงมากขึ้นและตอบโจทย์เอสเอ็มอี ซึ่งตนเชื่อว่าโลกตอนนี้เศรษฐกิจและเทคโนโลยีไปเร็วมาก การทำหนึ่งคำตอบเพื่อทุกคนเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องมีคำตอบเพื่อ 1 กลุ่ม 1 คำตอบ เพื่อ 1 อุตสาหกรรม แต่จะมีกี่คำตอบต้องค่อย ๆ เจาะไปเรื่อย ๆ สสว. เป็นเหมือนกับตัวกลางเชื่อมโยงและเป็นหน่วยหลักที่แท้จริงในการดูแลบูรณาการเอสเอ็มอี"


SME2

ในปีงบประมาณ 2563 ตั้งใจจะขอเพิ่มงบประมาณเป็น 1.8-2 พันล้านบาท เพราะโจทย์ใหญ่ที่ได้รับมา คือ จะต้องผลักดันจีดีพีเอสเอ็มอีให้ได้ 45% และขยายเป็น 50% ในอนาคต แต่งบประมาณที่ สสว. ได้รับนั้นอยู่ที่ระดับเท่าเดิมทุกปี แต่ก็ยังสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยในปี 2560 เพิ่มได้เป็น 3.6 พันล้านบาท ส่วนปี 2561 เพิ่มได้เป็น 4.1 พันล้านบาท และปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มได้เป็น 5 พันล้านบาท หรือ 5 เท่าจากงบประมาณ ดังนั้น หากได้งบประมาณในจำนวนที่ขอ ก็คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้จีดีพีเติบโตตาม โดยมองว่าจีดีพีเอสเอ็มอีไทยจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณด้วย


ยันไม่มีกองทุนเพิ่ม
ส่วนเรื่องของกองทุนจาก สสว. นั้น จะไม่มีเพิ่มอีก เพราะ สสว. ไม่เหมาะกับการทำงานกองทุน สสว. ควรจะเป็นหน่วยงานเพื่อตอบโจทย์ให้เอสเอ็มอี ว่า กองทุนไหนเหมาะในการแก้ปัญหาอะไร แต่ไม่ควรจะเป็นผู้อนุมัติกองทุนเอง เนื่องจาก สสว. เป็นคอขวดเป็นหน่วยงานที่เก่งเรื่ององค์ความรู้กับความคิดเชิงกลยุทธ์ไม่ได้เป็นนายธนาคาร โดยปัจจุบันกำลังดำเนินการเรื่องเครดิตเรตติ้ง เพื่อแก้ปัญหาการทำงานในอดีต โดย 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทำงานเรื่องดังกล่าวล่าช้า เพราะไม่มีเครดิตเรตติ้งรายย่อย

"สสว. จึงใช้งบประมาณในการศึกษาเครดิตเรตติ้งไปเลยว่า หากเป็นรายย่อย ก็ควรจะพิจารณาจากการเติบโตของธุรกิจ หากธุรกิจโตได้ 3 เดือน ให้หมายความมีเครดิต ไม่ต้องไปพิจารณาจากเครดิตบูโรโดยทำแบบเชิงลึก ต่อไปเมื่อ สสว. สามารถมีเครดิตเรตติ้งแบ่งไมโครเอสเอ็มอีได้เมื่อใด สถาบันการเงิน หรือ กองทุน ก็สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวนี้จาก สสว. ได้เลยในการอนุมัติสินเชื่อ เพราะสามารถมั่นใจได้ว่าให้กับผู้ที่ทำธุรกิจจริง"

สำหรับภาพในอนาคตที่ต้องการจากการทำงาน ก็คือ การได้เห็นเอสเอ็มอี สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อตอบโจทย์ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการให้ทุกคนยั่งยืน รวมถึงพึ่งพาตนเองได้และเติบโตกระจายไปทั่วประเทศ โดยในความหมายของ สสว. ก็คือ การที่เอสเอ็มอีมีความรู้ที่มาพร้อมกับวิธีการปฏิบัติและใช้สิทธิประโยชน์จากภาครัฐให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมา สสว. จึงได้จัดทำแอพพลิเคชัน SME connext เพื่อเป็นช่องทางให้เอสเอ็มอีรับทราบข่าว กิจกรรม ของ สสว. ที่เป็นประโยชน์และยังเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นของประเทศไทยที่มีงบประมาณพัฒนาเอสเอ็มอี รวมทั้งได้จัดทำเว็บไซต์ SMEONE ขึ้นให้เป็นช่องทางการเข้าถึงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ SME ในทุกมิติ ซึ่งขณะนี้ได้ให้บริการและมีเอสเอ็มอีให้ความสนใจเข้าใช้จำนวนมากถึง 35,000 ราย


ปรับให้ทันความเปลี่ยนแปลง
สุวรรณชัย บอกอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเอสเอ็มอีในปีถัดไปมาจากการค้าออนไลน์ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสูง ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรค โดยความเสี่ยงมาจากความไม่พร้อมและไม่เข้าใจตลาดผู้บริโภค โดย สสว. เองได้พยายามลดความเสี่ยงด้วยการให้ความรู้ทางด้านการตลาด รวมถึงผู้บริโภคและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ทั้งการขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ แพ็กเกจจิ้ง ให้สอดคล้องกับตลาด เพราะเอสเอ็มอียังไม่เข้าใจกลุ่มลูกค้าตัวจริง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเอสเอ็มอีจะต้องตื่นตัวและก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการดำเนินธุรกิจของตนเองไม่ทันต่อความต้องการของตลาด โดยรูปแบบการทำธุรกิจก็เปรียบเสมือนกับกลไกหลักในการนำพาธุรกิจไปสู่อนาคต หากยังขายหรือดำเนินการในรูปแบบเดิม ผลลัพธ์ก็คงจะไม่เปลี่ยนแปลง

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3427 วันที่  16-19 ธันวาคม 2561


595959859