'ทรัมป์' แบไต๋ให้จีนต่อรอง! แคนาดายอมให้ 'หัวเว่ย' ประกันตัว

12 ธ.ค. 2561 | 09:01 น.
หลังจากถูกทางการแคนาดาจับกุมตัวเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในที่สุด นางเมิ่ง หวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมของจีน ก็ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงินประกัน 10 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 247.5 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าแคนาดาจะส่งตัวผู้ต้องหามอบให้กับทางการสหรัฐฯ ตามคำขอ เพื่อนำผู้บริหารรายนี้เข้าสู่การพิจารณาคดีกรณีให้ข้อมูลเท็จแก่สถาบันการเงินและปกปิดธุรกรรมการซื้อขายสินค้าเทคโนโลยีให้กับอิหร่าน ซึ่งขัดต่อมติคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ

 

[caption id="attachment_360364" align="aligncenter" width="503"] ชาวจีนรวมตัวถือป้ายเรียกร้องหน้าศาลเมืองแวนคูเวอร์ ให้ทางการแคนาดาปล่อยตัวนางเมิ่ง หวันโจว ซีเอฟโอ บริษัท หัวเว่ย ชาวจีนรวมตัวถือป้ายเรียกร้องหน้าศาลเมืองแวนคูเวอร์ ให้ทางการแคนาดาปล่อยตัวนางเมิ่ง หวันโจว ซีเอฟโอ บริษัท หัวเว่ยฯ[/caption]

หลังได้รับการประกันตัว นางเมิ่งจะถูกยึดหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ทั้งหมด และต้องสวมใส่อุปกรณ์ติดตามตัวด้วยสัญญาณจีพีเอส และทุกครั้งที่ออกจากที่พักจะต้องมีการรายงานโดยละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่า เธอจะไม่หนีคดี ท่าทีของแคนาดาในครั้งนี้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของสถานการณ์การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และทำให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกคลายความวิตกกังวลลง

การตัดสินของผู้พิพากษาศาลเมืองแวนคูเวอร์ให้นางเมิ่งสามารถประกันตัว มีขึ้นแม้ว่าก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐฯ จะยื่นขอให้ศาลปฏิเสธการประกันตัว เพราะเกรงว่าด้วยอำนาจเงินของครอบครัว ผู้ต้องหารายนี้อาจหนีคดี อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่าแคนาดาจะส่งมอบตัวเธอให้กับทางการสหรัฐฯ ตามที่ขอมา


M2
"หัวเว่ยเองยืนยันว่ากระทำการทุกอย่างตามตัวบทกฎหมายของทุกประเทศและทุกภูมิภาคที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ"

กระบวนการต่อจากนี้จะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด รายงานข่าวระบุว่า ในวงเงินประกัน 10 ล้านดอลลาร์แคนาดานั้น จะเป็นเงินสด 7 ล้านดอลลาร์แคนาดา ที่เหลือ 3 ล้านดอลลาร์ จะมาจากผู้ค้ำประกัน ที่คาดว่าอาจจะมี 5 คน หรือมากกว่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีออกนอกประเทศแคนาดา ด้าน โฆษกบริษัท หัวเว่ย ได้ออกแถลงการณ์หลังรับทราบคำตัดสินของศาลแวนคูเวอร์ให้สามารถประกันตัวนางเมิ่ง ว่า บริษัทมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าระบบกฎหมายของแคนาดาและสหรัฐอเมริกาจะให้ความเป็นธรรมต่อกระบวนการนับจากนี้ และหัวเว่ยเองก็ขอยืนยันว่า กระทำการทุกอย่างตามตัวบทกฎหมายของทุกประเทศและทุกภูมิภาคที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกและกฎหมายการคว่ำบาตรทั้งของสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

สำหรับข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ในการขอความร่วมมือแคนาดาจับกุมตัว นางเมิ่ง หวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ บริษัท หัวเว่ยฯ ในครั้งนี้ สหรัฐฯ ระบุว่า หัวเว่ยฯ ได้กระทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าเทคโนโลยีกับประเทศอิหร่าน ที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงิน ผ่านทาง บริษัท สกายคอม ในฮ่องกง โดยสกายคอมเป็นบริษัทที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับหัวเว่ยและมีสำนักงานสาขาในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน


จะปล่อยหรือไม่ปล่อย!
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การเปิดช่องให้นางเมิ่งมีโอกาสได้ประกันตัว เป็นการตัดสินใจของแคนาดาที่หวังลดความขุ่นข้องใจของฝ่ายจีน และไม่ต้องการมีเรื่องบาดหมางกับรัฐบาลจีน ที่มองว่าแคนาดาเดินตามเกมของสหรัฐฯ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า แคนาดาถูกกดดันโดยตรงจากรัฐบาลปักกิ่ง ที่ส่งสัญญาณชัดว่า พร้อมเล่นงานแคนาดาเต็มสูบหากไม่ยอมปล่อยตัวผู้บริหารหัวเว่ย เพราะเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ควบคุมตัว นายไมเคิล โคฟริก อดีตเจ้าหน้าที่การทูตแคนาดาที่เคยประจำการอยู่ในประเทศจีน ไปดำเนินคดี ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดเปิดเผยออกมามากนักว่า เขาถูกทางการจีนจับกุมตัวด้วยข้อหาอะไร แต่สื่อแคนาดายืนยันว่า ข่าวนี้เป็นเรื่องจริง แม้แต่ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ยังออกมายอมรับว่า รัฐบาลกำลังเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือนายโคฟริกที่ถูกควบคุมตัว ปัจจุบัน นายโคฟริกทำงานให้กับองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป และโกลบอล แอฟแฟร์ แคนาดา ซึ่งเป็นองค์กรด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของแคนาดา

 

[caption id="attachment_360367" align="aligncenter" width="503"] สถานทูตแคนาดาในกรุงปักกิ่ง สถานทูตแคนาดาในกรุงปักกิ่ง[/caption]

การตอกกลับแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ระหว่างจีน-สหรัฐฯ และแคนาดา ได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่นั่นก็อาจนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาด้วยการ "ยื่นหมูยื่นแมว" ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ (11 ธ.ค.) ว่า ถ้าจำเป็นก็พร้อมยื่นมือเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ โดยจะคุยกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ หากจะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับจีนได้ หรือเพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เอง


ขอดูจีนหงายไพ่ก่อน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยผ่อนปรนบทลงโทษให้กับ บริษัท แซดทีอี ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอีกรายหนึ่งของจีนมาแล้ว โดยแซดทีอีเคยถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรด้วยข้อกล่าวหาส่งออกสินค้าเทคโนโลยีให้กับอิหร่านและเกาหลีเหนือ ซ้ำยังให้ข้อมูลเท็จกับทางการสหรัฐฯ หลายครั้งหลายคราด้วยกัน มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจของแซดทีอีซวนเซหนักถึงขั้นต้องปิดสายการผลิต แต่สุดท้ายสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า แซดทีอีเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของบริษัทสหรัฐฯ ที่เป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนประกอบสำคัญที่แซดทีอีต้องใช้ในการผลิต อีกทั้งแซดทีอียอมจ่ายค่าปรับก้อนใหญ่ สหรัฐฯ จึงยอมยกเลิกคำสั่งคว่ำบาตรให้แซดทีอี


trump
"ผมอยากเห็นก่อนว่าฝ่ายจีนเรียกร้องอะไรบ้าง"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่นางเมิ่งจะถูกปล่อยตัว ผู้นำสหรัฐฯ เปิดช่องว่า อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ และเป็นไปได้ที่เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา (ระหว่างจีนและสหรัฐฯ) ประธานาธิบดีทรัมป์ยังบอกด้วยว่า จะต้องคุยกับกระทรวงยุติธรรมก่อน ส่วนคำถามที่ว่า อยากเห็นแคนาดาส่งตัวผู้ต้องหามายังสหรัฐฯ หรือไม่ คำตอบของผู้นำสหรัฐฯ แสดงชัดว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องของการต่อรอง "ผมอยากเห็นก่อนว่า ทางฝ่ายจีนเรียกร้องอะไรบ้าง"


 

595959859

[caption id="attachment_360258" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]