'เชฟโรเลต' ลุยเอสยูวี ดัน 'เบลเซอร์' ใหม่ ทําตลาดแทนแคปติวา

14 ธ.ค. 2561 | 03:48 น.
'เชฟโรเลต' เล็งทำตลาดเอสยูวีรุ่นใหม่ "เบลเซอร์" แทนที่แคปติวา คาดเปิดตัวปีหน้า ท้าชน "ฮอนด้า ซีอาร์-วี" ที่เพิ่งเพิ่มรุ่น 5 ที่นั่ง กดราคาขายตํ่า และซีเอ็กซ์-5 มากับเครื่องยนต์ใหม่

ตลาดเอสยูวี หรือ รถอเนกประสงค์ ในไทยถือเป็นเซ็กเมนต์ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดนี้ก็ดุเดือดไม่แพ้เซ็กเมนต์ไหน ๆ โดยยอดขายรวมของรถในกลุ่มนี้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 (ม.ค. - ก.ย.) เติบโตกว่า 64.6% หรือคิดเป็นจำนวนคันอยู่ที่ 62,191 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ขายได้ 37,787 คัน

ส่วนผู้นำตลาดเป็นการขับเคี่ยวของรถอเนกประสงค์ในกลุ่มบี-เอสยูวี หรือ ครอสโอเวอร์ อย่าง โตโยต้า ซี-เอชอาร์ และเอ็มจี แซดเอส ขณะที่ ฮอนด้า เอชอาร์-วี, มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 มียอดขายที่ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นปลายโมเดล

ด้าน เอสยูวีไซซ์คอมแพ็กต์ที่มี "ฮอนด้า ซีอาร์-วี" เป็นผู้นำ ก็เพิ่งเพิ่มทางเลือกใหม่ ด้วยการเปิดตัวรุ่น 5 ที่นั่ง เครื่องยนต์เบนซิน ส่วนในรุ่นเบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง ทั้งในรุ่นเครื่องยนต์เบนซินและรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลก็ยังคงไว้ ส่วนเบอร์ 2 ในกลุ่มนี้ คือ ซีเอ็กซ์-5 ยอดขายก็ยังคงเติบโต แถมปีหน้าจะมีการเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่เข้ามาเป็นทางเลือก ส่วนเบอร์ 3 อย่าง "นิสสัน เอ็กซ์เทรล" ยอดขายก็ลดลง แม้จะเป็นโมเดลที่มีทั้งเครื่องยนต์ปกติและไฮบริดให้เลือกก็ตาม และเบอร์ 4 ในตลาด คือ "เชฟโรเลต แคปติวา"




2019-blazer-design-gallery-051

2

สำหรับ 'เชฟโรเลต' ก่อนหน้านั้นออกมาประกาศว่าจะเลิกผลิตรถอเนกประสงค์แคปติวา และหันไปโฟกัสที่รถปิกอัพเชฟโรเลต โคโลราโด และพีพีวี อย่าง 'เทรลเบลเซอร์' แต่ล่าสุด ก็แง้มแผนจะเปิดตัวรถนิวเซกเมนต์เพื่อมาเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถประเภทนี้ โดย นางสาวปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาโมเดลใหม่ที่ยังไม่เคยทำตลาดในไทย และเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่จะเข้ามาเสริมทัพผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่

"เรายังไม่ฟันธงว่าจะเป็นโมเดล "เชฟโรเลต เบลเซอร์" ที่เพิ่งเปิดตัวในตลาดโลกหรือไม่ แต่ถือว่าเป็นรุ่นที่มีโอกาสในการเข้ามาทำตลาดในไทยเยอะมาก"

แนวรุกใหม่ในครั้งนี้ของเชฟโรเลตถือว่าออกมาท่ามกลางกระแสข่าวที่คุกรุ่นในต่างประเทศ ที่มีการปิดโรงงานในสหรัฐอเมริกา 5 แห่ง และเตรียมยกเลิกไลน์ผลิตรถยนต์อีกหลายรุ่น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีอีก 2 โรงงาน ที่นอกเหนือจากอเมริกาเหนือที่จะต้องปิดตัวลง

โดย นางสาวปิยะนุช กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะไทยมีการปรับตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเทรนด์ของรถปิกอัพ หรือ เอสยูวี เริ่มมีมานานแล้ว ดังนั้น หากตลาดไหนมีความพร้อมก็ปรับตัวก่อน และโรงงานไหนที่ไม่ได้ผลิตรถที่อยู่ในกระแสหลักของตลาดก็จะตกอยู่ในความเสี่ยง แต่สำหรับโรงงานในไทยนั้นถือว่าไม่มีความเสี่ยง เพราะถือเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ 1 ใน 3 ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บราซิล และไทย


chevrolet 1

1 5 3

"ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 ที่เราออกมาประกาศว่าจะหยุดทำตลาดรถเก๋งและจะโฟกัสที่รถปิกอัพและรถอเนกประสงค์ ซึ่งสาเหตุที่เราตัดสินใจแบบนี้ เพราะเราเห็นแนวโน้มความต้องการของลูกค้าและเราก็ใช้เวลาในการปรับฐานในช่วงปีก่อนหน้านั้น จนมาถึงปีที่ผ่านมายอดขายของเราก็เริ่มดีขึ้น ดีลเลอร์มีความเข้าใจ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เรามีการปรับตัวในครั้งนั้นเอง ก็จะคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับที่อเมริกาในตอนนี้"

นางสาวปิยะนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรงงานในไทยมีการส่งออกกว่า 70% และเป็นการส่งออกทั้งแบรนด์เชฟโรเลตและโฮลเด้นไปยังออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เม็กซิโก, ตะวันออกกลาง อีกทั้งยังมีการส่งออกเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์กลับไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนการผลิตเพื่อขายในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 30%

สำหรับจีเอ็มมีโรงงานในไทย 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โดยโรงงานแรก คือ ศูนย์การผลิตยานยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย และโรงงานแห่งที่ 2 คือ "จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ประเทศ ไทย" ที่ลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล ดูราแม็กซ์ ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยมีกำลังการผลิต 1.2 แสนเครื่องต่อปี


090861-1927-9-335x503-335x503-2-335x503

ถือเป็นการยืนยันว่า แบรนด์เชฟโรเลตในไทยจะยังคงเดินหน้า และตอกยํ้าให้ลูกค้าและคนไทยได้มั่นใจด้วยการเพิ่มไลน์อัพที่นอกเหนือจาก 2 โมเดลหลัก แต่จะมีเพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 รุ่นในปีหน้า ขณะเดียวกัน รุ่นที่ทำตลาดอยู่ก็เริ่มจับทางลูกค้าได้ ดังจะเห็นจากยอดขายของพวกเขาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำรุ่นตกแต่งพิเศษออกมา พร้อมทั้งราคาจำหน่ายที่จูงใจ

โดย 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2561 เชฟโรเลตมียอดขายสะสม 15,444 คัน เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 14,275 คัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 1.9% และเมื่อมาแยกสัดส่วนการขายจะพบว่า รถปิกอัพโคโลราโด มียอดขาย 14,107 คัน เพิ่มขึ้น 10.9% ส่วนรถพีพีวี เทรลเบลเซอร์ มียอดขาย 1,202 คัน เพิ่มขึ้น 21.7%

"ยอดขายของเรายังคงโตต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากการทำรถรุ่นพิเศษ อาทิ โคโลราโด ไฮคันทรี สตรอม ล่าสุด คือ โคโลราโด มิดไนท์ อิดิชัน ส่วนในรุ่นอเนกประสงค์ ที่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก คือ เทรลเบลเซอร์ ในรุ่นฟินิกซ์ อิดิชัน ที่ทำราคาพิเศษ 9.99 แสนบาท และล่าสุด เราก็เปิดตัว เทรล เบลเซอร์ เพอร์เฟค อิดิชัน ปัจจุบัน เรามีสัดส่วนการขายแบ่งออกเป็นปิกอัพ 95% และพีพีวี 5% แต่ในอนาคตสัดส่วนจะขยับเป็น 90:10"

นางสาวปิยะนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานในปีหน้ายังคงเน้นเปิดตัวรุ่นตกแต่งพิเศษ หรือ รุ่นลิมิเต็ด อิดิชัน ทั้งโคโลราโดและเทรลเบลเซอร์ เพราะลูกค้าชื่นชอบรถแต่งและบริษัทต้องการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้า

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,426 วันที่  13 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561

595959859-6-503x60