"แม่ทัพ" นักปฏิบัติ คิดแบบบูรณาการ ไม่ทำงานเป็นไซโล

14 ธ.ค. 2561 | 04:26 น.
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ "ผู้นำ" แตกต่างจากผู้นำธรรมดาทั่ว ๆ ไป การเป็นผู้นำที่มีวิธี "คิดแบบบูรณาการ" (Intergrative Thinking) พร้อม ๆ กับการสังเคราะห์ส่วนประกอบของแต่ละความคิดออกมา จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี "อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย" ยึดเป็นแนวทางการทำงาน ตั้งแต่ตอนที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จนได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้นำทัพในกระทรวงดีอี เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560

จากนโยบายการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิตอล ตั้งแต่ปี 2558 กับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มี ปลัดกระทรวงดีอีท่านนี้ บอกว่า น่าจะสามารถเข้ามาช่วยผลักดันงานต่าง ๆ ให้เดินไปตามเป้าหมายได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยร่วมงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที มาระยะหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงดีอีแล้ว และด้วยบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย คือ การเข้ามาดูนโยบายหลัก ๆ และพยายามผลักดันให้ทุก ๆ งานเดินหน้า

 

[caption id="attachment_360138" align="aligncenter" width="335"] อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย[/caption]

ไม่ว่าจะเป็น งานวางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ การผลักดันให้แต่ละโปรเจ็กต์ ซึ่งล้วนเป็นงานขนาดใหญ่ สามารถลุล่วงและคืบหน้าไปได้ "อัจฉรินทร์" ต้องทำหน้าที่มอนิเตอร์ทุกอาทิตย์ หน่วยงานไหนทำอะไรมา เป็นไปตามแผนหรือเปล่า ภารกิจบางอย่าง คือ การเข้ามาสานต่อ และเมื่อโครงการเสร็จก็ต้องเดินหน้าต่อยอด อย่างเรื่องของบิ๊กดาต้า นี่คือ การต่อยอดแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้า รวมไปถึงการสร้างบุคลากรด้านไอที

"อัจฉรินทร์" บอกว่า งานของกระทรวงดีอีในช่วงนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ช่วงแรก ๆ ก็ต้องปรับตัว มุ่งเน้นไปที่เรื่องการพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่เอาสายไฟเบอร์ออพติกมาวางเข้าถึงหมู่บ้านแล้วจบ แต่มันต้องต่อยอดว่าจะไปอย่างไรอีก อย่างที่เราคิดแล้วและต่อยอดแล้ว ด้วยโครงการ "เน็ตอาสาประชารัฐ" ซึ่งเราได้รับแรงบูรณาการมาจากหน่วยงานอื่น ๆ และภาคเอกชนด้วย

"การบริหารในงานตรงนี้ต้องใช้ทักษะเยอะมาก การที่มาจากบีโอไอจึงเคยเห็นแผนใหญ่ ๆ ของชาติ เราทำตามแผนทางด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว การจะมองแผนชาติให้ทะลุต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งเราพอมี เพราะเป็นวิศวะ แล้วเราก็อยู่บีโอไอมาหลายปี มาบวกกับความรู้ทางด้านเทคนิค และการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือ ไม่ว่าจะทำงานโปรเจ็กต์ไหนก็ตามก็จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ซึ่งตรงนี้ติดมาจากบีโอไอ"


61111902-(65)

วิธีการในการทำงานของผู้นำท่านนี้ คือ การมองรายละเอียดของภารกิจ หลังจากนั้นจะดูเลยว่า ภารกิจนั้นเกี่ยวข้องกับใครบ้าง Stakeholder คือใคร แล้วมานั่งคุยร่วมกัน ตลอดการทำงานที่กระทรวงดีอี ผู้นำท่านนี้บอกว่า ทำงานแบบนี้มาตลอด และด้วยความเป็นคนไม่ชอบการทำงานแบบไซโล หรือ การทำงานที่หน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กรเดียวกันไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือ องค์ความรู้ระหว่างกัน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานตํ่าลง ขวัญกำลังใจพนักงานตก และอาจส่งผลถึงขั้นทำลายวัฒนธรรมองค์กรได้ ดังนั้น เธอจึงเน้นเรื่องวิธีการสื่อสารให้มาก ทำงานร่วมกันให้เยอะ ทำงานแบบบูรณาการ ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญเลยทีเดียว และขณะนี้กระทรวงดีอีเริ่มเดินไปในทิศทางนั้นแล้ว

"เป้าหมาย คือ เราต้องการทำภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายมาให้สำเร็จลุล่วง เพราะมันเป็นพื้นฐานจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ ไม่ว่าจะให้หน่วยราชการคลีนอัพเรื่องดาต้า อันนี้ถ้าเราไม่ปู เรื่องเหล่านี้ไว้ การเป็นสมาร์ทคันทรี ไม่เกิดหรอก เราต้องต่อยอดให้จบ"

และสิ่งที่ปลัดดีอีท่านนี้ต้องการเห็นโดยเร็วที่สุด ก็คือ การทำให้กระทรวงดีอีเป็นกระทรวงที่สมาร์ท ใช้ดิจิตอลในการทำงานทุกอย่างและต้องใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการเข้าถึงการบริการประชาชน ต้องทำให้เทคโนโลยีดิจิตอลสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้ได้โดยเร็ว

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,426 วันที่  13 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7-1-503x62