กกพ. วางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน สร้างความโปร่งใส

11 ธ.ค. 2561 | 09:42 น.
กกพ. หนุนการแข่งขันและปฏิรูปภาคพลังงาน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการระยะต่อไป พร้อมทั้งวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน เพื่อสร้างความโปร่งใส

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. อยู่ระหว่างการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานฉบับปัจจุบัน และกำหนดให้ "การส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม" เป็นวิสัยทัศน์ใหม่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการระยะต่อไป พร้อมทั้งวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน เพื่อสร้างความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ สร้างความชัดเจนกฎระเบียบและความเป็นธรรมให้กับองค์กรธุรกิจภาคเอกชน

นอกจากนี้ กกพ. ยังเชื่อมั่นว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ดังกล่าวจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ บทบาท ภารกิจของ กกพ. ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตอบสนองต่อนโยบายด้านพลังงานและแผนปฏิรูปภาคพลังงานของประเทศ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

โดย กกพ. จะนำเอาแนวทางการปฏิรูปภาคพลังงาน ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานกำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศด้วย ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ ระบบการออกใบอนุญาต โรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (OSS) การพัฒนา Big Data สำหรับการกำกับกิจการพลังงาน การสนับสนุนการพัฒนาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โครงการโซลาร์เสรี ตามนโยบายรัฐบาล และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ การเตรียมความพร้อมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการทางานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 เพื่อเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้

การคาดการณ์แนวโน้มภาคพลังงานไทยจะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีพลังงานอย่างรวดเร็ว การให้ความสำคัญกับการห่วงใยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแนวโน้มของการมีส่วนร่วมและสิทธิของภาคประชาชนและชุมชนในภาคพลังงานจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะแข่งขันกับธุรกิจภาคเอกชนได้ยากขึ้นกว่าเดิม แต่จะมีบทบาทภารกิจที่สำคัญในการดูแลเสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ


49422

ส่วนกิจการก๊าซธรรมชาติยังคงมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ก็จะเริ่มเร่งรัดเพื่อให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น โดยจะมีการกำหนดแนวทางและกระบวนการขออนุญาตการประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนการพัฒนาและการออกใบอนุญาต ศูนย์ควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operation : TSO) เพื่อดำเนินการควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้พลังงาน

ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติของ กกพ. ในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านพลังงานทดแทน (RE) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทางที่เป็นสากล ได้แก่ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 (COP 21) ความพยายามในการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ภาคประชาชน เพื่อลดกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโครงข่ายพลังงาน

595959859-6-503x60