หวั่นนโยบายรัฐ ดันหนี้ชนเพดาน!!

11 ธ.ค. 2561 | 09:46 น.
111261-1624

คลังตั้งทีมเกาะติดนโยบายรัฐบาล ดึงเงินแบงก์รัฐอุ้มรากหญ้า ดันภาระหนี้ปีงบ 62 ใกล้เต็มเพดาน เหลือวงเงินใช้ได้แค่ 1 แสนล้านบาท จับตาหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ชงแผนก่อหนี้ผูกพันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ 14 ธ.ค. นี้

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดค้างชำระหนี้ที่รัฐบาลต้องรับชดเชยให้กับหน่วยงานรัฐในการดำเนินนโยบายแทนรัฐบาลใกล้เต็มวงเงินที่กฎหมายกำหนด โดยภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 28 กำหนดให้การก่อหนี้ผูกพันที่รัฐบาลต้องรับชดเชยให้กับหน่วยงานรัฐในการดำเนินนโยบายแทนรัฐบาลใกล้เต็มวงเงินที่กฎหมายกำหนดแล้ว โดยภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 28 กำหนดให้การก่อหนี้ผูกพันที่รัฐบาลต้องชดเชยให้ภายหลังได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ภายใต้วงเงิน 3 ล้านล้านบาท 30% คือ 9 แสนล้านบาท แต่ยังมีวงเงินที่ค้างชำระเกือบ 8 แสนล้านบาท จึงมีวงเงินที่เหลือดำเนินการได้เพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

[caption id="attachment_359865" align="aligncenter" width="503"] ©OpenClipart-Vectors ©OpenClipart-Vectors[/caption]

"กรอบวินัยการคลังส่วนใหญ่ เราจะได้ยินหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 41-42% แต่ยังมีอีกเรื่องที่เป็นการก่อหนี้ผูกพันที่รัฐบาลต้องชดเชยให้ภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงเหลือเพียงประมาณ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น หากยังไม่คืน การจะให้ธนาคารรัฐทดลองจ่ายแทนรัฐบาลก็จะทำไม่ได้ ซึ่งขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ของ สศค. ติดตามดูเป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้เกินวงเงินที่กฎหมายกำหนด" นายลวรณ กล่าว

สำหรับโครงการนโยบายรัฐที่ยังเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. รวมทั้งสิ้น 550,653 ล้านบาท โดยมาจาก 1) โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 53/54 จำนวน 19,757 ล้านบาท 2) โครงการรับจำนำผลิตผลเกษตร จำนวน 417,937 ล้านบาท 3) โครงการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 59/60 โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปี 59/60, 60/61, 61/62 และเงินช่วยเกษตรกรชาวสวน จำนวน 100,964 ล้านบาท 4) โครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 5,570 ล้านบาท 5) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559, 2560 และ 2561 จำนวน 4,131 ล้านบาท และ 6) เงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. จำนวน 2,294 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_359866" align="aligncenter" width="503"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[/caption]

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่ได้กังวลเกี่ยวกับเพดานการก่อหนี้ผูกพันใกล้จะเต็มเพดาน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะถือว่ายังมีวงเงินเหลือกว่า 1 แสนล้านบาท ที่ยังสามารถให้สถาบันการเงินรัฐดำเนินนโยบายแทนรัฐบาลได้อีก โดยที่รัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยให้ในภายหลัง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรอบวงเงินที่เหลือดำเนินการได้เพียง 1 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 ถือว่าน้อยมาก เพราะขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 10 เดือน จึงจะเริ่มปีงบประมาณใหม่ ทางกระทรวงการคลังจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้วงเงินในส่วนนี้ ด้วยการให้หน่วยงานรัฐไปเสนอขอใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น ที่ตั้งไว้ 9 หมื่นล้านบาทแทน

ทั้งนี้ ตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ระบุว่า การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าจ่ายให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟู หรือ กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือ การก่อวินาศกรรม

 

[caption id="attachment_359868" align="aligncenter" width="503"] ©3dman_eu ©3dman_eu[/caption]

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้ ครม. ต้องพิจารณาภาระทางการคลังของรัฐที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต ผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมาย และแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลังของรัฐ และผลกระทบจากการดำเนินงานดังกล่าว แต่ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกำหนด คือ 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งให้จัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมด และแจ้งให้คณะกรรมการและกระทรวงการคลังทราบด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า วันที่ 14 ธ.ค. นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่จะมีการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป ที่จะขอก่อหนี้ผูกพันมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก่อนที่จะเสนอรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้สำนักงบประมาณพิจารณา เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 26 โดยคาดว่า ในปีงบประมาณ 2563 จะมีการขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายการใหม่มากกว่าปีงบประมาณ 2562 ที่มีการขอก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่กว่า 1.3 พันรายการ วงเงินรวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,424 วันที่ 6 - 8 ธ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อีซีเล็งปรับอิตาลี บีบรักษาวินัยการคลังลดหนี้ 131% ของจีดีพี
ครม. รับทราบสถานะหนี้สาธารณะ ปี 61


เพิ่มเพื่อน
595959859-6-503x60