'อีอีซี' ตั้งเขตส่งเสริมเพิ่ม 4 แห่ง รองรับกลุ่มโตโยต้า-อาลีบาบา-ม.ธรรมศาสตร์

11 ธ.ค. 2561 | 09:35 น.
'อีอีซี' ไฟเขียวจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่มอีก 4 แห่ง หนุนการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 'โตโยต้า' พร้อมลงทุนยานยนต์สมัยใหม่ ส่วน WHA รองรับการลงทุนกลุ่มอาลีบาบา พร้อมอนุมัติร่างระเบียบกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธาน คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขอจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง รวมพื้นที่โครงการ 3,063 ไร่ เป็นพื้นที่ลงทุน 2,420 ไร่ จากที่ประกาศไปแล้ว 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ราว 8.6 หมื่นไร่ ประกอบด้วย 1.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ พื้นที่โครงการรวม 566 ไร่ เป็นพื้นที่ลงทุน 322 ไร่ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อรองรับศูนย์นวัตกรรมทางด้านการแพทย์ ยานยนต์ และดิจิทัล เงินลงทุนราว 8 พันล้านบท

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รูปแบบพัฒานาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเฉพาะด้าน จำนวน 3 แห่ง พื้นที่โครงการ 2,497 ไร่ พื้นที่ลงทุน 2,098 ไร่ เงินลงทุนราว 34,480 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2562-2566) ประกอบด้วย 1.เขตส่งสริมพิเศษโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ประมาณ 1,640 ไร่ ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และสามารถขยายกําลังการผลิตได้อีก 1 เท่าตัว รองรับการขยายตัวในการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ในอนาคต เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท

2.เขตส่งเสริมพิเศษในพื้นที่ 625 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท และ 3.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ (E-Commerce) พื้นที่ 232 ไร่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 37 เพื่อดำเนินกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยอื่น ๆ ของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิงส์ จำกัด ซึ่งจะรองรับการลงทุนของกลุ่มอาลีบาบาที่จะเกิดขึ้น เงินลงทุนราว 1.34 หมื่นล้านบาท

 

[caption id="attachment_359864" align="aligncenter" width="503"] นายอุตตม สาวนายน นายอุตตม สาวนายน[/caption]

นายอุตตม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการสำคัญของจังหวัดในอีอีซี ได้แก่ โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและสำรวจออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต (ระยะที่ 2) จ.ระยอง และโครงการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการถนนเลี่ยงเมือง สาย ง อ.เมือง จ.ระยอง รวมวงเงินลงทุนราว 123 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 กับถนนเมืองใหม่เหนือและถนนนิคมแหลมฉบัง 4 กม.126+425 วงเงินลงทุนราว 200 ล้านบาท

อีกทั้งเห็นชอบร่างระเบียบกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 61 และมาตรา 64 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า "กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก" เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายใน หรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC โดยเงินกองทุนให้ใช้เบิกจ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้

1.เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมทั้งช่วยเหลือหรือเยียวยา ประชาชนและชุมชนบรรดาที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC 2.สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยใน EEC หรือที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC 3.ค่าใช้จ่ายอื่นที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพัฒนา EEC ตามที่ กพอ. กำหนดค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนการใช้จ่ายเงินกองทุนตาม (1) และ (2) ให้คำนึงถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นด้วย


090861-1927-9-335x503-335x503-2-335x503

รวมถึงร่างแผนสิ่งแวดล้อมใน EEC ที่นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560 มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และมอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เป็นผู้ประสานรวบรวมและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายต่อไป

โดยร่างแผนสิ่งแวดล้อม EEC พ.ศ. 2561-2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้1.สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ EEC 2.กรอบแนวคิดและทิศทางการจัดทำแผน 3.กรอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC 4.วิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ยุทธศาสตร์ และมาตรการ ของแผนสิ่งแวดล้อม EEC 5.แผนปฏิบัติการและโครงการเร่งด่วน 6.การขับเคลื่อนแผน

นายอุตตม กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบถึงความก้าวหน้าโครงการเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนา EECi โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการทำงานร่วมกันของเมืองนวัตกรรมและทำงานร่วมกับพันธมิตรภายนอกทั้งในและต่างประเทศ 2.เพื่อให้ EECi เป็นแหล่งนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมดำเนินการโดยเร็ว กำหนดให้ใช้วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัด ระยอง เป็นพื้นที่ตั้งของ EECi เพียงแห่งเดียว


บาร์ไลน์ฐาน-16

3.เริ่มดำเนินการ EECi ทันที โดยใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นที่รองรับนวัตกรและนักลงทุนที่มีความพร้อมดำเนินการ 4.ประมาณการวงเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัฐพึงลงทุนใน EECi ตลอดช่วงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พร้อมทั้งยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนา EECi ทั้งภาครัฐและเอกชน วิจัยนวัตกรรม วิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนการแข่งขันเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร อีกทั้งยังได้เตรียมความพร้อมทางด้านกายภาพ ปรับปรุงแก้ไขผังเมือง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อรองรับการพัฒนา EECi มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค คาดว่าเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ภายใน ม.ค. 2562 โดยมีวงเงินก่อสร้างรวมกว่า 4,000 ล้านบาท

รวมถึงโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ได้รับทราบหลักการของการพัฒนา ได้แก่ 1.งานการออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค ภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 2.การจัดสรรพื้นที่โครงการฯ และการดำเนินการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดเพื่อสนับสนุนและดึงดูดนักลงทุนเป้าหมายเข้ามาลงทุนและเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่

ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองดิจิทัลนอกจากจะมีความสอดคล้องกับความพร้อมและมีความเชื่อมโยงกับโครงการสำคัญในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศไทยอีกด้วย

595959859