'เป๊ปซี่โค' ส่งเสริมเกษตกรยั่งยืน พัฒนาประสิทธิผลและประสิทธิภาพควบคู่

16 ธ.ค. 2561 | 03:33 น.
ในฐานะผู้ผลิตที่รับผิดชอบสังคม บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือเป๊ปซี่โค ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ 'เลย์' ได้มุ่งเน้นการให้ความรู้ พัฒนาประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของมันฝรั่ง รวมทั้งคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดย "มันฝรั่ง" ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยว มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท และยังมีบทบาทสำคัญต่อภาคเกษตรกรรม เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทยกว่า 10,000 ครัวเรือน โดยมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมากกว่า 1,270 ล้านบาทต่อปี ทั้ง ๆ ที่มันฝรั่งเป็นพืชในเขตหนาว

หัวมันฝรั่ง
"เคิร์ธ พรีชอว์" กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจขนมขบเคี้ยว บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด บอกว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตหลักและเป็นตลาดที่มีความสำคัญของเป๊ปซี่โคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีการเพาะปลูกมันฝรั่งในบริเวณภาคเหนือตอนบน เป๊ปซี่โคจึงได้ร่วมกับโครงการหลวง บริษัทเอกชน สำนักงานเกษตรอำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่ และกลุ่มเกษตรกรใน อ.สันทราย ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิต เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปผ่าน "โครงการทดลองปลูกมันฝรั่งเพื่ออุตสาหกรรมแปรรูป"

เป๊ปซี่โค มีนโยบายการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2538 เน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเกษตรกรไทยผ่าน "โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืน" ภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน หรือ การทำ "คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง" (Contract Farming) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชนในทุกพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยราว 3,500 ราย ครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกรวมกว่า 22,000 ไร่ ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก รวมถึง 2 จังหวัดในภาคอีสาน คือ สกลนครและนครพนม

"ชวาลา วงศ์ใหญ่" ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้งฯ บอกว่า ในการทำ "คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง" กับเกษตรกร เป๊ปซี่โคให้ความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ โดยนำนักวิชาการเกษตรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาติดตามส่งเสริม และจัดโปรแกรมอบรมให้ความรู้เกษตรกร และยังส่งเสริมให้เกษตรกรรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการภาชนะและขยะอย่างถูกวิธี รวมทั้งส่งเสริมการสานต่อเกษตรกรรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้อาชีพเกษตรกรมีความยั่งยืน


PIC00385

จากแนวทางปฏิบัติของเป๊ปซี่โคถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเบื้องต้น เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่ประมาณ 1 ตันต่อไร่ ได้ขยับขึ้นเป็น 2 ตัน และ 3 ตันกว่าในปัจจุบัน และในอนาคตประมาณ 2-3 ปี จะพัฒนาเพิ่มผลผลิตให้ได้ 5 ตันต่อไร่ ทั้งการสนับสนุนด้านความรู้และพันธุ์มันฝรั่งที่เหมาะสมกับอากาศในประเทศไทย โดยปัจจุบัน เกษตรกรมีรายได้จากมันฝรั่งราว 8,000-10,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเป๊ปซี่โครับซื้อผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยทั้งสิ้นไม่ตํ่ากว่า 70,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 70% ของความต้องการในการผลิตทั้งหมด

ในการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ครั้งล่าสุด เป๊ปซี่โคได้แนะนำเกษตรกรผู้เข้าร่วมในโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนฯ ของเป๊ปซี่โค คือ "บุญศรี ใจเป็ง" เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งใน อ.สันทราย ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งรวมกว่า 1,500 ไร่ต่อปี และสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้สูงถึง 5 ตันต่อไร่ โดยพื้นที่เพาะปลูกแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ของเกษตรกรคนอื่น ๆ ซึ่งปีนี้เป๊ปซี่โคได้จัดทำพื้นที่เรียนรู้รวม 19 แห่ง ใน 7-8 จังหวัด และในทุก ๆ ปี เป๊ปซี่โคจะจัดพื้นที่ตัวอย่างในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การใช้นํ้าหยด หรือ แปลงปลูกมันฝรั่งสายพันธุ์ที่เพิ่มผลผลิต เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรที่สนใจและร่วมโครงการ

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3426 ระหว่างวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2561

595959859-6-503x60