'เอสเอ็มอี' หวั่นปี 62 เสี่ยง! ธพว. ชี้ 3 ตัวแปรหลัก - ปัจจัยภายในไม่น่าห่วง

14 ธ.ค. 2561 | 04:17 น.
ธพว. เผยปัจจัยเสี่ยงปีหน้าของเอสเอ็มอี มี 3 ด้านหลัก จากสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการปรับตัวสู่โลกดิจิตอล และการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลง พร้อมชี้ปัจจัยในประเทศไม่น่าห่วง ด้าน กสอ. ห่วงความผันผวนทางการเมืองสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยในประเทศห่วงต้นทุนการผลิต

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญซึ่งจะกระทบต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) 2562 คาดว่าจะมาจาก 3 เรื่อง ประกอบด้วย


มงคล ลีลาธรรม2

1.ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยส่วนใหญ่จะมาจากสงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งจะมีผลทำให้การทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการส่งออก อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และราคานํ้ามัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้จะเป็นปัญหาสำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่มีเวลาปรับตัว

2.ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของถนนดิจิตอล โดยเรื่องดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเอสเอ็มอีไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภค  และรูปแบบของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

3.การปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงที่เอสเอ็มอีเองที่จะตัดสินใจกับสิ่งที่ท้าทายธุรกิจอย่างไร จะมีการเปลี่ยนแปลงยกระดับตนเองหรือไม่ เอสเอ็มอีรายใดที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับองค์ความรู้และมาตรการส่งเสริม หรือ ทุนจากรัฐบาลได้ก็จะช่วยลดผลกระทบไปได้มาก โดยในปีหน้ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเอสเอ็มอีออกมาอย่างหลากหลาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเอสเอ็มอีด้วยว่าจะสามารถยกระดับตนเองให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้หรือไม่

"ในโลกการค้ายุคปัจจุบัน มีความจำเป็นที่จะต้องมีสังกัด รวมถึงสมาคม การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะจะทำให้เกิดการรับรู้ข่าวสาร รวมถึงรูปแบบในการเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ จากทางภาครัฐได้โดยง่าย"

นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจัยภายในประเทศ เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะการเลือกตั้งได้มีการประกาศในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นไปในรูปของกฎหมายที่มีการกำกับดูแล ดังนั้น นโยบายของรัฐที่จะออกมาในปีหน้าก็คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ผลพวงจากการลงทุนที่ผ่านมาก็จะเริ่มส่งผลหลายรูปแบบในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็น สนามบินทางภาคใต้ โครงข่ายสาธารณูปโภคที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562-2563 โดยจะมีผลต่อความเชื่อมั่น ทำให้องค์กรภาคเอกชนเริ่มที่จะลงทุน ซึ่งราคาที่ดินและสาธารณูปโภคก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีผลจากการเร่งรัดการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามามีส่วนเสริมสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย


TP13-3426-A

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงปีหน้าน่าจะมาจากภาวะความผันผวนทางการเมืองในต่างประเทศ โดยสิ่งที่เห็นชัดตอนนี้ ก็คือ เมื่อสหรัฐฯ ขยับครั้งหนึ่ง จะสังเกตได้ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีผลทำให้ภาวะความเชื่อมั่นการลงทุนถูกกระทบไปด้วย โดยจะส่งต่อมายังเรื่องของการซื้อขายในเชิงเศรษฐกิจมหภาค

ขณะที่ ปัจจัยในประเทศนั้น สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ เรื่องต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ สิ่งที่กรมต้องการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ ก็คือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตถูกลงให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ หรือจะดำเนินการอย่างไรให้กระบวนการต่าง ๆ ลดรอบเวลาลงได้และลดความสูญเสียได้ โดยประสิทธิภาพในการผลิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เอสเอ็มอีจำเป็นต้องสร้างประสิทธิภาพและทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง เพื่อให้สามารถต่อสู้กับการแข่งขันในตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"ตอนนี้กรมได้ดำเนินการทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น โครงการต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมาจากความต้องการของเอสเอ็มอี มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มีการตรวจสอบความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงทำการตลาดเสริมเข้าไปช่วยเอสเอ็มอี และมีเงินทุนสินเชื่อที่คอยสนับสนุน สุดท้ายจะมีการคัดผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมา และนำขึ้นสู่หลักสูตรการเรียนการสอนทางออนไลน์ให้เอสเอ็มอีได้ศึกษาบนช่องทางของอินเตอร์เน็ต"

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3426 วันที่ 13-15 ธันวาคม 2561

e-book-1-503x62-7-1-503x62