ปฏิรูป WTO เส้นทางอีกยาวไกล

14 ธ.ค. 2561 | 08:10 น.
 

คอลัมน์เทรดวอชต์ โดย บัณฑูร วงศ์สีลโชติ

ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ความตกลงที่ประกาศร่วมกันหลังการประชุม G20 ได้เน้นว่าได้เกิดอุปสรรคทางการค้าทำให้เป้าหมายที่ องค์การการค้าโลก หรือ WTO ตั้งไว้ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เป็นอยู่อันได้แก่การปฏิรูป WTO เรื่องนี้ เป้าหมายของสหรัฐฯ คือการจัดการกับรัฐวิสาหกิจในบางประเทศที่มีสิทธิประโยชน์มากมายเหนือบริษัทต่างชาติในการเข้าไปทำธุรกิจ กีดกันการแข่งขันที่เสรี การกำหนดให้ต้องมีผู้ถือหุ้นของคนในชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งสำหรับการลงทุน ทำให้มีการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยีและเปิดเผยความลับทางการค้า ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภาครัฐให้เงินอุดหนุนในอุตสาหกรรมต่างๆ และจีนไม่ควรถูกจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพราะมีระดับเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก

เป้าหมายของสหรัฐฯจึงอยู่ที่จีน ส่วนจีนก็เสนอให้ปฏิรูป WTO เรื่องการอุดหนุนสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้ว ให้คงไว้ซึ่งการรักษาสิทธิของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว เคารพและไม่ก้าวก่ายรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่แตกต่าง รักษาสถานภาพของจีนว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ให้กลับมาทำงานได้ เพราะถ้าปราศจากกลไกนี้ WTO ก็หมดความหมาย ช่วง 5 เดือนตั้งแต่พฤษภาคมถึงสิ้นตุลาคมปีนี้ WTO พบว่ามีการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศในกลุ่ม G20 มากกว่า 40 มาตรการ ส่งผลกระทบกีดกันการค้าระหว่างกันมีมูลค่ามากถึง 4.81 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้มีข้อพิพาทร้องเรียนเกิดขึ้นมากกว่า 100 เรื่อง มากกว่าปกติกว่า 6 เท่า แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา ธง

ทั้งหมดนี้เพราะสหรัฐฯได้ทำผิดกฎระเบียบความตกลงของ WTO มากมาย โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้า จึงไม่ต้องการให้มีการพิจารณาเกิดขึ้น ด้วยการขัดขวางไม่ให้มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่เมื่อคนเก่าหมดวาระไป จำนวนผู้พิพากษาซึ่งเดิมกำหนดไว้ต้องมี 7 คน ขณะนี้เหลือเพียง 3 คน มี 2 คนที่จะหมดวาระเดือนธันวาคมปีหน้า แปลว่าถึงสิ้นปีหน้าจะเหลือผู้พิพากษาเพียง 1 คน ย่อมทำงานไม่ได้ ทำให้ระหว่างนี้ ไม่ว่าทรัมป์จะออกมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างไรก็ตาม แม้ขัดต่อระเบียบความตกลงภายใต้ WTO การฟ้องร้องของนานาประเทศที่ WTO ย่อมไม่ได้รับการพิจารณา อียูเองก็ได้ร่วมกับอินเดีย แคนาดา นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไอซ์แลนด์ สิงคโปร์ และเม็กซิโก ยื่นข้อเสนอปฏิรูป WTO เรื่องนี้เช่นเดียวกัน

เห็นได้ว่าสหรัฐฯ มุ่งเรื่องจีน เพราะจีนกำลังเป็นภัยคุกคามความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนกำลังจะนำหน้าสหรัฐฯในอีกไม่กี่ปี ที่สำคัญ จีนใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบลงทุนโดยรัฐ (State Capitalism) ประสบผลสำเร็จมากกว่าสหรัฐฯที่ใช้แบบลงทุนโดยเอกชน (Private Capitalism) ให้สิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจแก่คนจีน (economic rights) แต่ไม่ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง (political rights) คือไม่ให้มีการเลือกตั้ง นับเป็นเสรีภาพที่จำกัด แต่ส่งผลดีในการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก เห็นได้จากที่จีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีระหว่างปี 1978 และ 2017 เฉลี่ย 9.5% GDP เติบโต 35 เท่า สามารถลดความยากจนของประชากรมากกว่า 13 ล้านคนในแต่ละปี รวมกันแล้วถึงวันนี้ 40 ปี คนจีนเกือบ 800 ล้านคนพ้นจากความยากจน มีฐานะรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูง ความเหลื่อมลํ้าทางรายได้น้อยกว่าประเทศสหรัฐฯ รวมถึงไทยที่มีคนไทยเพียง 1% (6 แสนคน) ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินของชาติไทยกว่า 66% ส่วนคนอเมริกัน 1% เป็นเจ้าของทรัพย์สินของชาติ กว่า 40% จีนมีมาตรการดูแลสุขภาพของคนในประเทศดีกว่าสหรัฐฯ สวัสดิการสังคมก็ดีกว่า จีนเป็นตลาดบริโภคสินค้าที่สำคัญกว่าตลาดอเมริกันในหลายๆ สินค้าเช่น รถยนต์และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น Huawei ปีนี้ ขายโทรศัพท์มือถือได้มากกว่า Apple เป็นอันดับ 1 สำหรับตลาดอุปกรณ์โครงสร้างเครือข่ายโทรคมนาคมของโลก มีเทคโนโลยี 5G เหนือกว่าสหรัฐฯ จีนเป็นผู้นำเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) WTradeO

เกิดคำถามว่าต่อไปสหรัฐฯจะขายสินค้าอะไรที่สู้จีนได้บ้าง จีนได้กลายเป็นประเทศที่ทั่วโลกต้องการเอาอย่าง ประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการมักมีการเติบโตทางเศรษฐกิจตํ่า ประชาชนเดือดร้อนยากจน แต่จีนกลับแสดงให้เห็นตรงกันข้ามว่าหากในเผด็จการมีผู้นำและคณะรัฐมนตรีที่ทำงานเพื่อชาติและประชาชน ประเทศก้าวหน้ามากกว่า ขจัดคอร์รัปชันได้ดีกว่า พัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อการคมนาคมสะดวก ทันสมัย นำหน้านานาประเทศทั่วโลกได้โดยใช้เวลาอันสั้นกว่า จีนจึงเป็นแบบอย่างที่คุกคามค่านิยมของคนอเมริกัน เป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯเพราะจีนกำลังชิงความเป็นหนึ่ง เป็นผู้นำโลกทางการค้า กำลังพยายามพัฒนาเงินหยวนให้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแทนดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2015 จีนได้พัฒนาการชำระเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศแบบใหม่ด้วยเงินหยวน เรียกว่า China International Payment System (CIPS) หรือ Cross Border Inter-payment System เพื่อใช้แทน SWIFT (The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) ที่ชำระโอนเงินกันเป็นดอลลาร์สหรัฐฯเป็นสาเหตุที่การซื้อขายระหว่างประเทศทั่วโลกมักใช้ดอลลาร์ หากจีนทำสำเร็จจะทำให้อุปสงค์สำหรับดอลลาร์ในตลาดโลกลดลง สร้างความเสี่ยงต่อค่าเงินดอลลาร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมาก สหรัฐฯมองว่าจีนมีศักยภาพที่อาจทำได้สำเร็จเพราะจีนมีการค้ากับโลกมากกว่าสหรัฐฯ TP8-3426-B

ดังนั้นนโยบายสหรัฐฯ จึงพยายามขัดขวางความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีน พยายามบังคับจีนให้เปลี่ยนเป็น Private Capitalism แทน State Capitalism ที่จีนกำลังทำอยู่ ซึ่งจีนไม่อาจยอมทำตามได้ และการจับตัว CFO Meng Wanzhou ของ Huawei ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯเกรงกลัวธุรกิจด้าน 5G ของจีนจะครองตลาดโลกลํ้าหน้าเหนือสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯก็กล่าวหาโดยไร้หลักฐานว่า เทคโนโลยี 5G ของ Huawei อาจเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลจีนใช้ล้วงความลับของนานาประเทศได้ ได้ชักชวนประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ อียู และญี่ปุ่น เป็นการกีดกันการค้าอย่างไม่ยุติธรรม ทำทุกวิถีทางเพียงเพื่อขัดขวางไม่ให้ธุรกิจของ Huawei เติบโตได้ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงยังต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และในรูปแบบต่างๆ อีกนานหลายปี การพักรบ 90 วันจึงจะไม่ส่งผลให้เกิดความตกลงระหว่างกันได้ ในที่สุด สหรัฐฯอาจเลือกวิธีทำสงครามที่ใช้อาวุธเพื่อดำรงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ให้จีนมาแทนได้

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,426 วันที่ 13-15 ธันวาคม 2561

595959859-6-503x60