15 ประเด็นสุ่มเสี่ยง ประชาคมอาเซียน 2019 (1)

12 ธ.ค. 2561 | 04:00 น.
ปี 2019 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในเวทีประชาคมอาเซียน ทั้งนี้เนื่องจากไทยในฐานะประธานอาเซียนจะต้องเป็นเจ้าภาพไม่เพียงแค่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเท่านั้น หากแต่ยังทำหน้าที่เจ้าภาพและประธานการประชุมอาเซียนในทุกมิติและในทุกระดับอีกมากกว่า 300 การประชุมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2019 นั่นทำให้เราต้องมา ทบทวนกันครับว่าปีหน้ามีประเด็นอาเซียนเรื่องใดบ้างที่ต้องจับตามองมากเป็นพิเศษ

1.ประเด็นด้านความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศ แน่นอนว่าประเด็นความมั่นคงที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security) หรือภัยความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) อันได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงส่วนบุคคลจากอาชญากรรมประเภทต่างๆ ความมั่นคงของประชาคมที่เขามีส่วนร่วม และความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าโครงสร้างหลักของอาเซียนที่เราเรียกว่า ประชาคมสังคม-อาเซียน และประชาคมการเมือง-ความมั่งคงอาเซียน ที่มีคณะทำงานอยู่ในทุกประเทศสมาชิกจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นหลักประกันว่าประชาชนอาเซียนจะได้รับประโยชน์และได้รับการคุ้มครองในประเด็นเหล่านี้

2. ประเด็นด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก ที่ผ่านมาสมาชิกประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะบนภาคพื้นทวีป (Mainland ASEAN) ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ต่างก็เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก อัตราการเจริญเติบโตของทั้ง 4 ประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่า 6% อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆ ปี แต่ในปี 2019-2020 ที่นักวิเคราะห์หลายๆ ฝ่ายกำลังวิตกกับวิกฤติตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Crisis:  EM Crisis) ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2018 ความสุ่มเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้จะพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายหลังจากขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจจะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อมีตัวเร่งที่สำคัญคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทั้งประเทศในห่วงโซ่อุปทานและเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศในกลุ่มนี้ ความน่ากลัวของ EM Crisis สำหรับประเทศกลุ่ม CLMV ก็คือ CLMV ล้วนเป็นประเทศที่เพิ่งจะเปิดเข้าสู่ตลาดโลกได้ไม่นาน ภาวะพึ่งพาต่อสหรัฐฯและจีนอยู่ในระดับสูง

TP7-3426

ดังนั้นเมื่อค้าขายกับทั้ง 2 ประเทศนี้ได้ลดลง และเศรษฐกิจภายในประเทศเองก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก ประกอบกับการเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ระดับกลางรายใหม่ๆ ที่เพิ่งจะพ้นจากการเป็นประเทศยากจน การกระจายรายได้ค่อนข้างไม่เป็นธรรม ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มธุรกิจไม่กี่กลุ่มและผู้คนไม่กี่ครอบครัว ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติ คนยากจนในประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและไม่มีระบบสวัสดิการสังคมมารองรับ ดังนั้นคณะทำงานภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียนคงต้องทำงานอย่างหนักและเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้

3. ในภาวะที่สงครามการค้ายังคงเกิดขึ้น แนวคิดแบบชาตินิยม (Nationalism) อย่างรุนแรงจนถึงขนาดเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) และนิยมการใช้ความรุนแรง (Radicalism) ทำให้โอกาสทางการค้าและการลงทุนในทุกมิติในเวทีโลกลดลง นั่นทำให้อาเซียนและประเทศคู่เจรจาหลักต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันว่า อาเซียนและประเทศคู่เจรจายังคงเป็นเสาหลักที่สนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรม ซึ่งกรอบข้อตกลงการค้าที่จะเป็นพลังหลักที่จะขับเคลื่อน คือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

ซึ่งทั้ง 16 ประเทศนี้ต่างก็เกื้อกูลซึ่งกันและกันในห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains) และยังเป็นกรอบการเจรจาการค้าที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่ามากกว่า 25.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ครอบคลุมประชากรมากกว่า 3,552 ล้านคน หรือกว่าครึ่งของประชากรโลก และเป็นประชากรที่มีระดับรายได้เฉลี่ยสูงกว่า 7,146 ดอลลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี ซึ่งถือเป็นรายได้ระดับกลางที่มีกำลังซื้อสูง จากการประชุมสุด ยอดผู้นำ RCEP ครั้งที่ 2 ที่สิงคโปร์ที่ผ่านมา

เราพบว่า ปัจจุบันการเจรจามีความคืบหน้าไปอย่างมาก ประเด็นสำคัญที่มีความยากในการเจรจาเริ่มมองเห็นทิศทางและข้อสรุปการเจรจา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปี 2019 ที่ประเทศไทยจะเป็นประธาน การหาข้อสรุปการเจรจาและการลงนามในข้อตกลง RCEP น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าบทบาทของกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ของไทยในการนำการเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงคือสิ่งที่พวกเราคาดหวังในปี 2019

4. ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ยังคงเป็นประเด็นเฝ้าระวังและต้องจับตามองต่อไปในปี 2019 นักวิชาการด้านอาเซียนศึกษาพิจารณาผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้ใน 5 รูปแบบคือ

a. ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้รับประโยชน์จาก Trade and Investment Diversion นั่นคือ เมื่อจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปขายในสหรัฐฯ และเมื่อสหรัฐฯไม่สามารถส่งสินค้าไปขายในจีนได้ นั่นหมายถึงโอกาสทางการค้าของอาเซียนที่จะบุกเข้าทั้ง 2 ตลาด และในขณะเดียวกัน การลงทุนที่เดิมอาจจะไปลงทุนในจีนก็อาจจะเบนเข็มมาลงทุนในอาเซียนแทน เนื่องจากสินค้า Made in China เจอปัญหากีดกันทางการค้า

b. ผลกระทบทางลบจาก สงครามการค้าอาจจะบรรเทาลง เนื่องจากผลของข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ที่จะมีผู้ใช้สิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนและข้อตกลงอื่นๆ ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการเร่งให้เกิดการบังคับใช้ข้อตกลงอื่นๆ ในอนาคต โดยเฉพาะ RCEP และ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership  หรือ TPP-11 ที่ปราศจากสหรัฐฯ)

c. ผลกระทบทางลบ เนื่องจากหลายๆ ฝ่ายพิจารณาว่า สงครามการค้าส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานในเอเชียและเอเชียตะวันออกถูกทำลายหรือถูกบิดเบือนไปจากเดิม

d. ผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด คือสงครามการค้าไปปลุกกระแสชาตินิยมแบบคลั่งชาติในประเทศ อื่นๆ และทำให้ทุกประเทศระดมใส่มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้นจนระบบการค้าระหว่างประเทศถูกทำลาย

e.นักวิชาการบางส่วนกล่าว ว่าผลกระทบยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้เป็นเพราะประเทศผู้ก่อสงครามการค้ายังออกอาวุธไม่หมด สหรัฐฯเองก็ยังประกาศทีท่าว่าจะเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ในคราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาเซียนต้องจับตามองตลอดปี 2019 ต่อเป็นตอนที่ 2 ครับ

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3426 ระหว่างวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2561

595959859-6-503x60