"ยาง-ปาล์ม" 8 ล้านไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิร้องรัฐ ขอเอี่ยวเงินช่วยเหลือ 1.3 แสนล้าน!!

14 ธ.ค. 2561 | 07:05 น.
ผงะ! "สวนยาง-ปาล์ม" ไร้เอกสารสิทธิกว่า 8 ล้านไร่ จี้รัฐช่วยเหลือด้วย โวย! โครงการอัดฉีดกว่า 1.3 แสนล้าน ล็อกสเปกเฉพาะสมาชิก กยท. 1.05 ล้านราย ที่มีเอกสารสิทธิ ... "แกนนำปาล์มกระบี่-ชุมพร" อัดรัฐไม่จริงใจช่วยปาล์ม ดิ้นปลุกกระแสผลิต บี100 เติมรถทั่วปักษ์ใต้ ดันราคาขยับ

จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มนํ้ามันกว่า 3,458 ล้านบาท และโครงการยางพารา 4 โครงการ ทั้งจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรและซื้อนํ้ายางสด โดยการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (งบสะสมของ อปท.) นำนํ้ายางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทั่วประเทศ 7.5 หมื่นหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 7.5 หมื่นกิโลเมตร ทั้ง 2 โครงการ ใช้งบกว่า 1.3 แสนล้านบาทนั้น


TP8-3426-A

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ข้อมูลตัวเลขพื้นที่กรีดยางในแต่ละหน่วยงานในเวลานี้ยังไม่ตรงกัน โดยข้อมูลการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ที่มีเอกสารสิทธิ (บัตรสีเขียว) จำนวน 1.05 ล้านราย พื้นที่ 14.7 ล้านไร่ เทียบกับข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) 20.1 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มี.ค. 61) จะเห็นว่า มีพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิตกหล่นกว่า 5 ล้านไร่ ไม่ใช่น้อย รัฐควรดูแลด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่สมาชิก กยท. เท่านั้น จากงบประมาณที่ใช้ 1.7 หมื่นล้านบาท

ในระหว่างนี้ เริ่มมีการประชาสัมพันธ์โครงการและชี้แจง พร้อมกับตั้งคณะทำงานตรวจสอบสิทธิ์ รับรองสิทธิ์ เปิดรับแจ้งเข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2562 คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ในวันที่ 28 ธ.ค. นี้

เช่นเดียวกับ นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) เผยว่า งบประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะใช้สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทั่วประเทศนั้น ขอให้สามารถซื้อนํ้ายางสดจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วไปที่อยู่จังหวัดนั้น ๆ ได้ โดยไม่ต้องล็อกสเปกเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก กยท. เท่านั้น อานิสงส์จึงจะทั่วถึงทั้งประเทศ


ปาล์ม

ด้าน นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มนํ้ามันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวว่า วันนี้ชาวสวนปาล์มทั้งประเทศมองว่า รัฐบาลไม่จริงใจ ดังสุภาษิต "ตบหัวแล้วลูบหลัง" โดยปล่อยให้โรงงานเอาเปรียบเกษตรกร ท้ายสุดมาแจกซิมการ์ดค่ายมือถือ พ่วงให้กรมธุรกิจพลังงานซื้อนํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ไปผลิตกระแสไฟฟ้าราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แล้วให้รับซื้อผลปาล์มให้นํ้ามัน 17% จากเกษตรกรราคา 3.20 บาทต่อ กก. เกษตรกรขาดทุน เพราะอย่างน้อยจะต้องรับซื้อผลปาล์ม 4 บาทต่อ กก.

ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดนี้เกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยทาง จ.กระบี่ ได้วางแผนหลังปีใหม่ จะเชิญ พล.ร.ต.สมัย ใจอินทร์ อดีตผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ผู้เคยถวายงานในโครงการไบโอดีเซลของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาให้ความรู้ พร้อมจัดเวทีเสวนาและแถลงข่าว ในหัวข้อ "บี100 มีประโยชน์อย่างไร ดี-เสียอย่างไร" ทั้งนี้ จะจัดคาราวานไปในหลายจังหวัดภาคใต้ เพื่อปลุกกระแสให้เกิดการใช้ บี100 เติมรถ เพื่อดันราคาผลปาล์ม


ยาง

"ในอีก 5 ปีข้างหน้า เชื่อมั่นว่า ราคาซีพีโอไม่เกิน 20 บาท ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะช่วยทำให้ผลปาล์มราคาปรับขึ้นมา ชาวสวนก็ต้องช่วยกันใช้เอง ส่วนการจ่ายเงินช่วยชาวสวนปาล์ม คาดจะจ่ายตรงเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 20 ธ/ค. นี้"

สอดคล้องกับ นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มนํ้ามัน จ.กระบี่ กล่าวว่า ถ้าให้ผลิตไบโอดีเซล 100 หรือ บี100 เชื่อว่านายทุนค่ายนํ้ามันไม่ยอม ขวางแน่นอน ดังนั้น ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวสวนปาล์ม ขอแค่ผลิต บี10 ก็เพียงพอแล้ว

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,426 วันที่ 13-15 ธันวาคม 2561

595959859-6-503x60