ภาคใต้เวียดนาม : โอกาสทองการลงทุนด้าน "พลังงานหมุนเวียน"

13 ธ.ค. 2561 | 04:14 น.
ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ของเวียดนามต่างมีศักยภาพด้าน "พลังงานหมุนเวียน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

บริเวณดังกล่าวมีแสงอาทิตย์เฉลี่ยตั้งแต่ 1,900-2,900 ชั่วโมง/ปี และมีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงเฉลี่ย 4-5 กิโลวัตต์/ตารางเมตร โดย จ.นินห์ถ่วน เป็นจังหวัดที่มีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงสุด และเป็นพื้นที่ที่มีโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับอนุมัติมากที่สุดในประเทศ คือ กว่า 27 โครงการ ศักยภาพการผลิตประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ รองลงมา คือ จ.บินห์ถ่วน และจังหวัดอื่น ๆ เช่น ฟู้เอียน เต็ยนินห์ คั้นห์กว่า กว๋างหงาย และด่งนาย เป็นต้น

ในส่วนของพลังงานลม เวียดนามได้รับการประเมินจากธนาคารโลก ว่า มีศักยภาพในการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 27 กิกะวัตต์ ณ ระดับความเร็วลม 7-9 เมตร/วินาที ที่ระดับความสูง 65 เมตร โดยปัจจุบัน มีโครงการไฟฟ้าพลังงานลมที่ได้รับการอนุมัติและดำเนินการผลิตแล้ว 7 โครงการ ศักยภาพการผลิตเพียง 197 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน จ.นินห์ถ่วน และบากเลียว นอกจากนี้ จังหวัดที่มีศักยภาพลมสูง อาทิ จ่าวินห์ บิ่นห์ถ่วน เบ๊น แจ และก่าเมา ด้วยศักยภาพดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลเวียดนามกำหนดให้ จ.นินห์ถ่วน เป็นศูนย์กลางด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศ


solarviet

แผนแม่บทด้านพลังงานเวียดนาม ปี 2559-2563 กำหนดให้มีการพัฒนาขีดความสามารถการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ 850 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 และ 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ในส่วนของพลังงานลม ตั้งเป้าหมายการผลิตที่ 800 เมกะวัตต์ ในปี 2563 และ 2,000 และ 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 2573 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการไฟฟ้าพลังงานลมที่เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วเพียง 5 โครงการ ศักยภาพรวม 190 เมกะวัตต์ (หรือคิดเป็น 24% ของเป้าหมาย 800 เมกะวัตต์)

ด้วยศักยภาพและแผนแม่บทข้างต้น ทำให้ปัจจุบันมีเอกชนไทยให้ความสนใจเข้ามาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามค่อนข้างมาก ประมาณ 5-6 บริษัท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยเฉพาะในเขตกงสุลทางภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ ล่าสุด ได้มีการลงทุนโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ จ.ฟู้เอียน โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท Truong Thanh Viet Nam Group Joint Stock Company มูลค่า 35.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีศักยภาพการผลิต 257 เมกะวัตต์ และได้มีการลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) ระยะเวลา 20 ปี กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) แล้ว คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือน มิ.ย. 2562

ทั้งนี้ หากรวมกับการลงทุนโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บริษัทฯ ได้ลงนามความตกลงร่วมทุนก่อนหน้านี้ ซึ่งมีกำลังการผลิต 420 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้ บริษัท บี.กริมฯ เป็นบริษัทที่ลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในเวียดนามและอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีภาคเอกชนไทยที่ให้ความสนใจจะลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ใน จ.นินห์ถ่วน ซึ่งมีศักยภาพด้านนี้มากที่สุดในเวียดนาม

สำหรับพลังงานลมนั้น ในปีนี้มีการลงทุนของ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อกฯ จากประเทศไทย ระยะแรกมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน จ.บากเลียว ซ็อกจาง และก่าเมา ศักยภาพการผลิตไฟฟ้า 142, 98 และ 100 เมกะวัตต์ ตามลำดับ รวมถึง บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ฯ มูลค่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ด้วย

เพื่อรองรับกระแสการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

[caption id="attachment_359302" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2561 รัฐบาลเวียดนามได้ผ่านข้อมติหมายเลข 115 ขยายระยะเวลาการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ ราคา 9.35 cent/ kWh ใน จ.นินห์ถ่วน จากวันที่เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 และปรับใช้กับสัญญาซื้อขายพลังงาน (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี สำหรับศักยภาพการผลิตจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรีเวียดนาม แต่ข้อมติหมายเลข 115 นี้ ครอบคลุมเฉพาะโครงการเดิมที่อนุมัติโดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามแล้วเท่านั้น ซึ่งตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม มีโครงการที่ได้รับอนุมัติและบรรจุเข้าไปในแผนพลังงานของจังหวัดแล้วกว่า 1,900 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ข้อมติดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงโครงการในอนาคตและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กที่อนุมัติโดยจังหวัด (ศักยภาพการผลิตตํ่ากว่า 50 เมกะวัตต์)

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้อนุมัติคำสั่งหมายเลข 39 มีสาระสำคัญ คือ การปรับ FiT พลังงานลมจาก 7.8 cent/ kWh เป็น 8.5 cent/ kWh และ 9.8 cent/ kWh สำหรับการผลิตบนชายฝั่งและนอกชายฝั่ง ตามลำดับ โดยต้องเป็นโครงการที่ COD ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 2564 ปรับให้สัญญาซื้อขายพลังงาน (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ศึกษาและเสนอกลไกพิเศษในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานลมและเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ดังกล่าวภายในเวียดนามด้วยโดยโครงการต่าง ๆ จะเริ่มก่อสร้างได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการลงนามใน PPA ความตกลงการสร้างสายส่งและจ่ายไฟฟ้า และส่งรายงานการวัดความเร็วลมย้อนหลัง 12 เดือนแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนก็ควรพิจารณาทั้งโอกาสและความท้าทายควบคู่กันไป ทั้งในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สาระสำคัญของ PPA ประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

บทความโดย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ และศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์

| หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,426 ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2561

595959859-6-503x60