ติดเทอร์โบ5จี-เซตซีโร่คลื่นปลดล็อกทีวี-มือถือความท้าทายใหม่‘กสทช.’

15 ธ.ค. 2561 | 03:18 น.
ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า อุตสาหกรรมสื่อ และ ทีวีดิจิตอล ถูกภัยคุกคามจาก ดิจิทัล ดิสรัปชัน จนต้องทยอยปิดตัวลงไปหลายราย

ส่วนกลุ่มทีวีดิจิตอล จากเดิมที่เป็นธุรกิจขาขึ้นจำนวนช่องเดิมที่มีเพียง 6 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง เมื่อจำนวนช่องเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ ระบบนิเวศ digital journalism เปลี่ยนแปลงจากเดิมนักข่าวพลเมืองเกิดขึ้น

มิหนำซํ้าภายใน 2 ปีนับจากนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5 จี กำลังจะเปิดให้บริการใน 5 ประเทศ ไล่เลียง ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เกาหลี และ เวียดนาม ส่วนประเทศญี่ปุ่น เตรียมออกอากาศทีวีถ่ายทอดสดระบบ 8K เร็วกว่าระบบ SD ถึง 26 เท่า ยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิตอล อย่างเห็นได้ชัด เพราะทุกคนสามารถพัฒนาเนื้อหา Content ผ่านทุกแพลตฟอร์มได้อย่างเสรี

นั่นจึงเป็นที่มาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แถลงนโยบายปี 2562 ด้วยการ เซตซีโร่ (Set Zero โทรคมนาคม) เปิดประมูลคลื่น 5G เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล

ย้อนปมเซตซีโร่

ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 พักชำระหนี้ ออกคำสั่งให้พักหนี้ค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล

ส่งผลให้มีช่องทีวีดิจิตอล จำนวน 20 ช่อง ยื่นความต้องการเข้าร่วมใช้สิทธิพักชำระค่าใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี ต่อ กสทช. ยกเว้น “ช่อง 7” และ “ช่อง Workpoint” พร้อมกับสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตฯ เป็นจํานวนเงินในอัตรา 50% ของค่าเช่าใช้โครงข่ายฯ เป็นระยะเวลา 24 เดือน และ   อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จําเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกําหนด

เมื่อฝั่งทีวีดิจิตอล ได้พักชำระหนี้ ทางฝั่งกิจการโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูก “เอไอเอส” และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือ ‘ทรู’ ยื่นหนังสือถึง คสช.ขอผ่อนผันชำระเงินประมูลคลื่นงวดที่ 4 ออกเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 8,040 ล้านบาท และงวดสุดท้าย ชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด

MP20-3426-1 แม้ กสทช.ออกมาตรการช่วยกลุ่มทีวีดิจิตอลไปแล้ว แต่ก็ยังถูกเทคโนโลยี ดิสรัปชัน ผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนฝั่งกิจการโทรคมนาคม แผนขอยืดหนี้ คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ มีอันต้องถูกระงับอย่างเร่งด่วน

เริ่มต้นนับหนึ่งอีกรอบ

แม้ครั้งแรกการปลดล็อกโทรคมนาคมไม่เป็นผล หากแต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กสทช.ได้แถลงนโยบายปี 2562 เพื่อผลักดัน 5 ด้านให้เกิดขึ้นจริง ประกอบด้วย สนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5 จี( ดูตารางประกอบ) ,แก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอลระยะยาว, จัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เพื่อรองรับมาตรา 60 , เร่งรัดและร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ในการนำเลขหมายโทรศัพท์ 191 มาใช้เป็นเลขหมายฉุกเฉินเลขเดียว และ ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย

การออกมาแถลงนโยบายของ กสทช.ในครั้งนี้เชื่อว่าคงจะได้ไฟเขียวจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.คงไม่ออกมาแถลงนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพราะถ้านำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลให้กับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยให้ เอไอเอส และ ทรู ยืดชำระค่างวดคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และนำเงินประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ไปเยียวยาผู้ประกอบการฝั่งทีวีดิจิตอล

เรียกคืนคลื่น 700-2600 เมก

หลังแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมาปรากฏว่า พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาแถลงข่าวการประชุมคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ว่า สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่หลักที่สำคัญสำหรับนำมาใช้ในกิจการ 5G จึงจำเป็นที่จะต้องเรียกคืนและนำมาจัดสรรใช้งาน เพื่อผลักดันบริการ 5G ดังนั้น กสทช. จึงได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ดำเนินการตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจ กสทช. เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล

ส่วนขั้นตอนการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ตามปกตินั้น ต้องดำเนินการภายหลังปี 2563 และน่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้อย่างเร็วในปี 2565 ซึ่งล่าช้าเกินไป อนุกรรมการฯ จึงสร้างกระบวนการ
ใหม่เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อใช้งานได้ทันภายในปี 2563 โดยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ได้ยื่นข้อเสนอให้มีการจ่ายค่าตอบแทน โดยการนำเงินส่วนหนึ่งจากการประมูลส่งกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวนเท่ากับที่ กสทช. ได้เคยนำเงินจากการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ดิจิตอลส่งเป็นรายได้ของรัฐ

ไม่เพียงแต่เรียกคืนคลื่น 700 เท่านั้น ล่าสุด สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

เหตุผลหลักที่สำนักงาน กสทช.เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือ นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

“การดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการครั้งแรกตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำเอาคลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด” นั่นคือคำบอกเล่าของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

อุ้มมือถือ-ทีวีฯ

เป้าหมาย เซต ซีโร่ คลื่นความถี่เพื่อปลดล็อกธุรกิจทีวีดิจิตอล น่าจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะหากถอดรหัสคำให้สัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กสทช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ กระทรวงการคลัง มารับฟังกรณีการเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาคลื่นความถี่ 700 MHz โดย เขา ระบุว่า กสทช. สามารถแก้ปัญหาได้โดยที่ไม่ต้องนำเรื่องนี้ส่งถึงมือรัฐบาล เพราะการเยียวยาเป็นไปตามที่ได้หารือกัน

[caption id="attachment_359302" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

“กสทช. ก็ยังไม่มีแนวทางว่าจะเยียวยาอย่างไร โดยเป็นเรื่องที่จะต้องต่อรองกันอีกทีของทั้ง 3 ฝ่าย คือ กสทช.
ผู้ประกอบการ และ เจ้าของโครงข่าย หรือ มักซ์ (MUX ) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 เจ้า ได้แก่ ช่อง 5 กรมประชาสัมพันธ์ อสมท และ ไทยพีบีเอส โดยโครงข่ายพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือทั้งหมด โดยการเยียวยานั้นจะไม่ขัดกฎหมาย หรือขาดวินัยการเงินการคลัง ซึ่ง กสทช. สามารถเป็นผู้ดำเนินการได้เลย” นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ

ดูท่าทางการ เซต ซีโร่ คลื่นความถี่เพื่อปลดล็อกทีวีดิจิตอล และ ยืดชำระค่างวดคลื่นความถี่ 900 ในรอบนี้น่า
จะเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ คสช. ดูท่าจะปลดล็อกให้ทั้งทีวี และ มือถือ เพราะถูกคุกคามจากเทคโนโลยีอย่างรุนแรง ขืนละเลยจะพังทั้งระบบ ไม่เช่นนั้น กสทช. จะกล้าประกาศผลักดัน 5 เป้าหมายให้เกิดขึ้นจริงในปี 2562 อีกด้วย

 แต่ปัญหา คือ ทุกอย่างต้องทำอย่างรอบคอบ และ ตอบคำถาม? กับ สังคม ได้เช่นเดียวกัน

รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,426 ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2561

595959859-6-503x60