กดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจสกัดเงินทุนไหลเข้า

08 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
ตลาดกดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ- หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ห่วงเงินไหลเข้าดันบาทแข็ง จากดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าตปท. นายกสมาคมนักวิเคราะห์เชื่อกนง.มีรูมลดดอกเบี้ยลงได้อีก 1 %แต่คงเป็นไปได้ยาก ประสานเสียงตรงกัน 23 มี.ค. ยืนต่อที่ 1.50 % แต่อาจไปลดในครั้งถัดไป ด้านตลาดเงินเผย เฟดถอยขึ้นดอกเบี้ยช่วยกดค่าเงินดอลลาร์ เปิดโอกาสธนาคารกลางทั่วโลก เดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ

[caption id="attachment_36193" align="aligncenter" width="700"] การประชุมของธนาคารกลางภายในเดือนมีนาคม 2559 การประชุมของธนาคารกลางภายในเดือนมีนาคม 2559[/caption]

ตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักในเดือนมีนาคมนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป ( อีซีซี ) ,ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ต่อการดำเนินนโยบายการเงินว่าจะส่งผลต่อตลาดเงิน -ทุนในภูมิภาคอย่างไร โดยเฉพาะการที่หลายประเทศใช้

นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ( QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ :ซึ่งส่งผลต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย รวมถึงการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 23 มีนาคมนี้

ต่อประเด็นนี้นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (บจก.)เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันที่คงในระดับ 1.50%ต่อปี (มาตั้งแต่ 29 เม.ย.58 ) แม้จะอยู่ในข่ายที่สามารถปรับลงได้อีก แต่หากประเมินจากท่าทีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ระบุถึงผลจำกัดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้านั้น จึงมีแนวโน้มที่กนง. จะเลือกการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นแนวทางสุดท้ายโดยให้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแทน

ขณะที่ปัจจัยนอกประเทศนั้น มองว่ามีโอกาสน้อยลงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม (วันที่ 15-16 มี.ค. ) และมิถุนายนปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดแรงหนุนที่จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะเดียวกันจะเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้ เช่น ธนาคารกลางเกาหลีที่ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบที่แล้ว แต่ส่งสัญญาณอาจจะปรับลดในเดือนเมษายน รวมทั้งธนาคารอินโดนีเซียอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ ขณะที่ญี่ปุ่นกับธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบเพิ่มอีก เพื่อประคองการแข็งค่าของเยนและตัวเลขเงินเฟ้อยุโรปยังต่ำกว่าคาดการณ์ โดยที่ผ่านมาจีนได้นำร่องลดอัตราเงินสดสำรองธนาคารพาณิชย์ลง 0.5%เหลือที่ระดับ 17.5%(ประกาศ29ก.พ.และมีผล 1มี.ค.59)

" แนวโน้มนโยบายการเงินยังเดินหน้าผ่อนคลาย ยิ่งตลาดปรับคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. ) รอบนี้ ( 23 มี.ค.59 ) กนง.คงรอสังเกตการณ์และถ้าเลือกได้เชื่อว่ากนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยรอบนี้ เพราะผลที่ได้จำกัดและไทยยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศสูง คาดว่าเงินบาทคงไม่แข็งหรืออ่อนค่าไปจากปัจจุบันมาก "

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เดือนมีนาคมนี้จะเห็นความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยอีซีบีกับบีโอเจนั้นมีโอกาสส่งสัญญาณทำคิวอีเพิ่มทำให้ค่าเงินอ่อนค่า และต้องจับสัญญาณเฟดระยะต่อไป โดยคาดว่าเดือนมีนาคม ก็ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สำหรับประเทศไทยยังสามารถใช้นโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม

ท่าทีของบอร์ดกนง.นั้น คาดว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยต่อ เพื่อรอดูตัวเลขการส่งออกและความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่สูงขึ้นทั้งเศรษฐกิจคู่ค้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่อาจส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการส่งสัญญาณของผู้ว่าการธปท.มองโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้ สะท้อนเข้าสู้ศึกสงครามค่าเงิน แต่บอร์ดกนง.น่าจะเลือกดำเนินนโยบายผ่อนคลายมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายแทนการลดอัตราดอกเบี้ย โดยหวังผลให้เงินบาทอ่อนค่า โดยธีมของเงินบาทมีความผันผวนแรงขึ้นกว่าปีก่อนและแนวโน้มมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก อีกทั้งปัจจุบันแม้ภาครัฐพยายามผลักดันหลายมาตรการรวมทั้งมาตรการทางภาษีในการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนแต่ตัวเลขการลงทุนยังชะลอ สะท้อนไทยติดกับดักความเชื่อมั่น

เช่นเดียวกับ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเชื่อว่า ภาพรวมยังมองกนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5%ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ 1.ธปท.ยังคงจับตามาตรการทางการคลังโดยเฉพาะผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการดำเนินนโยบายทางการคลังในไตรมาส 1/2559 ขณะที่เวลานี้ธปท.มีนวัตกรรมในการสื่อสารกับตลาดมากขึ้น ซึ่งหากจะมีการปรับทิศทางอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมจะส่งสัญญาณให้ตลาดก่อนหน้า ที่สำคัญก่อนหน้านี้มีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรพอควรถ้าส่งสัญญาณจะลดอัตราดอกเบี้ยจะมีเงินไหลเข้ามาอีก

"ถ้าลดดอกเบี้ยตามเสียงเชียร์อาจจะเป็นผลบวกต่อตลาดตราสารหนี้ และหุ้นที่ราคาปรับขึ้น แต่ในมุมกนง.มองภาพเศรษฐกิจหลักและภาคธุรกิจ คือ ถ้าลดดอกเบี้ยก็ไม่ส่งผลให้คนกู้เงินต่อเช่นที่ผ่านมาการปรับลดดอกเบี้ยไม่ส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อในระบบ ที่สำคัญแบงก์ชาติมีการให้ข่าวและสื่อสารกับตลาดมากขึ้น จึงไม่น่าจะมีเซอร์ไพรส์ในการประชุมรอบนี้ แต่โอกาสที่จะเห็นคะแนนเสียงของคณะกรรมการเป็นลักษณะ 6 ต่อ 1 ซึ่งบางท่านต้องการส่งสัญญาณ หรือสเต็ปต่อไปดูทิศทางเศรษฐกิจหรือถ้ามีการปรับประมาณการจีดีพีกลางปีนี้อาจจะมีลุ้น"

ขณะที่ฟากตลาดทุนกดดันให้กนง.ลดดอกเบี้ย แต่คาดว่าการประชุมในรอบนี้ (ครั้งที่ 2 ) กนง.จะยังยืนในระดับ 1.50 % ต่อ แต่อาจไปปรับลดในรอบหน้า (ประชุมครั้งที่ 3 ,4 วันที่ 11 พ.ค. 59 ,22 มิ.ย. 59)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ จำกัด และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ธปท.ต้องยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจไทยมีความพร้อมที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อก็ไม่มี โดยปีที่ผ่านมาก็ติดลบ และปีนี้ทั้งปีก็คงไม่มี

นอกจากนี้เมื่อดูที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ถือว่าสูง โดยสูงกว่า 5 ปีที่แล้วมาก ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง นอกจากนี้ค่าเงินในปัจจุบันก็แข็งค่าขึ้น ฉะนั้นปัจจัยที่จะช่วยให้ลดดอกเบี้ยก็เริ่มกลับเข้ามา อีกทั้งการลดดอกเบี้ยจริงก็ช่วยกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาลได้ เพราะดอกเบี้ยที่ถูกลงหมายความว่าการลงทุนภาคเอกชนก็จะถูกลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินลดลง ดังนั้น จึงมองว่าหากนโยบายทางการเงินมาช่วยก็อาจจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าเดิม

"ช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังสามารถทำได้ถึง 1% แต่ก็เชื่อว่า ธปท. ไม่น่าจะมีการปรับลดลงในช่วงของการประชุมเดือนมีนาคมนี้ แต่หากเป็นครั้งถัดไปที่สถานการณ์แย่ลงก็อาจจะมีการปรับลดประมาณ 0.25%" นายกสมาคมนักวิเคราะห์กล่าวและว่า

ทั้งนี้บล.ทิสโก้ฯ มองว่าเศรษฐกิจปีนี้มีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงได้แก่ 1.ไม่สามารถหวังพึ่งภาคการท่องเที่ยวได้เท่ากับปีที่ผ่านมา โดยปีที่ผ่านมาภาคดังกล่าวโตถึง 20% จากฐานที่ต่ำของปี 2557 โดยเมื่อมีการเติบโต 20% น้ำหนักที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจึงมีมาก หรือจะกล่าวง่ายๆก็คือ เศรษฐกิจที่โต 2.8% เมื่อปีที่ผ่านมาเกือบ 2% มาจากภาคท่องเที่ยว สำหรับปีนี้คาดว่าภาคท่องเที่ยวจะเติบโตประมาณ 10 % เท่านั้น 2. การลงทุนภาครัฐ ที่ปีนี้อาจไม่โตเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งโต 30% ดังนั้นเศรษฐกิจปีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการส่งออกซึ่งก็คงยังไม่ฟื้น เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี หากจะหวังเรื่องการบริโภคในประเทศ ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนยังมีจำนวนมากก็ไม่น่าจะดีขึ้น ขณะที่รายได้เกษตรกรก็ยังตกต่ำ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปอีกว่า สุดท้ายแล้วก็ต้องมาหวังที่การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะกระตุ้น แต่เวลานี้สัญญาณการฟื้นตัวของภาคเอกชนก็ยังไม่เห็นชัดเท่าใดนัก โดยในปีที่ผ่านมาก็ยังคงติดลบ และการลงทุนในเครื่องจักรถาวรต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมาก ความไม่แน่นอนก็สูง อย่างไรก็ดีหากโชคดีส่งออกฟื้นกลับมาดีขึ้นก็อาจจะช่วยกลบปัญหาดังกล่าวนี้ได้ แต่หากไม่ฟื้นก็จะต้องกระตุ้นการลงทุนให้ฟื้นขึ้นมา

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. ภัทรฯ กล่าวว่า ธปท. เริ่มเปิดรับมากขึ้นจากความกังวลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจจะเข้ามากระทบกับเศรษฐกิจให้เติบโตไม่ได้อย่างที่คาด ก็เปิดโอกาสในเรื่องการลดดอกเบี้ย อีกทั้งเมื่อประเทศอื่นเริ่มใช้นโยบายการเงินที่แปลกไปมากกว่าที่ผ่านมา ถ้าธปท.ยังมัวแต่ยึดตามในตำราความเสียเปรียบก็จะมีมากขึ้นจากอัตราผลตอบแทนที่ประเทศอื่นลดน้อยลง แต่ประเทศไทยยังสูงอยู่ ทำให้มีเงินไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หากไม่ดำเนินการอะไรเลย เพราะฉะนั้น ธปท. จึงออกมาส่งสัญญาณเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดวันนี้ก็กดดันธปท.พอสมควร

อย่างไรก็ตามการประชุมกนง. เดือนมีนาคมรอบนี้ มองว่าน่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย ยกเว้นจะเห็นสัญญาณอะไรที่ไม่สู้ดีนัก โดยต้องจับตาดูตัวเลขของการส่งออกและจีดีพี ซึ่งอีกหนึ่งสาเหตุที่ธปท. จะยังไม่ลดดอกเบี้ยก็เพื่อต้องการเก็บกระสุน ซึ่งมีอีกถึง 6 นัดเอาไว้ก่อน และหากดูตามสถิติจะพบว่าธปท.ไม่เคยลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่า 1.25% ซึ่งเป็นเรื่องในอดีต แต่ ณ ปัจจุบันที่ทุกประเทศใช้ดอกเบี้ยติดลบ ภาพรวมก็จะกลายเป็นติดลบ แต่เชื่อว่า ธปท.ไม่น่าจะลดลงไปมากกว่า 0% แน่นอน

ขณะที่ในฝั่งของนโยบายทางด้านการคลังต้องยอมรับว่าช่องว่างของการส่งออก และราคาสินค้าเกษตรนั้นใหญ่มาก ซึ่งรัฐบาลดำเนินเรื่องอะไรไปแทบจะไม่สามารถอุดช่องว่างของแนวโน้มดังกล่าวได้ และหากดูตัวเลขจะเห็นว่าแรงส่งจากการลงทุนของรัฐบาลเป็นเพียง 20% ของจีดีพีขณะที่การส่งออกอยู่ที่ประมาณ 70% ของจีดีพี หากนำมาหักกับการนำเข้าสุทธิก็จะอยู่ที่ประมาณ 30% ของจีดีพี ด้านราคาเกษตรก็ตกต่ำลงอย่างหนัก เพราะฉะนั้นช่องว่างดังกล่าวนี้จึงใหญ่มาก

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการวันนี้ คือ การเยียวยาในบางกลุ่ม โดยกลุ่มใดที่ถูกกระทบมากก็จะให้เงินสนับสนุนไปก่อน ซึ่งไม่ใช่การผลักดันให้จีดีพีขยับตัวสูงขึ้น เพียงแต่ลดผลกระทบให้กับผู้ที่ถูกกระทบ โดยสิ่งที่รัฐบาลมีโอกาสดำเนินการตอนนี้ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ คือ การกู้เงินมาเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559