ทอท. ตุนแสนล้านรับแผนแม่บทขยายสนามบิน

09 มี.ค. 2559 | 04:00 น.
ทอท. ขับเคลื่อนโรดแมป 6 สนามบิน ขยายศักยภาพการลงทุนร่วมแสนล้านบาทในช่วง 5 ปี โดยในส่วนสนามบินสุวรรณภูมิ จ่อเสนอบอร์ดไฟเขียวกรอบลงทุน 4.7 หมื่นล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และรันเวย์ 3 คู่ขนานไปกับพัฒนาเฟส 2 พร้อมชงแผนแม่บทสนามบินดอนเมืองดันการลงทุนเฟส 3 อีกนับหมื่นล้านบาท ส่วนสนามบินภูเก็ตเตรียมปักธงเฟส 3 รับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี หลังการเปิดตัวอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เดือนมิถุนายนนี้

อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าทอท.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยาน 6 แห่ง เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแผนการลงทุนระยะยาวที่วางไว้ เพราะที่ผ่านมาการขยายสนามบินต้องใช้เวลา ดังนั้นเมื่อขยายเสร็จก็พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการจนเกินศักยภาพไปแล้ว

"การลงทุนพัฒนาศักยภาพของสนามบินที่จะเกิดขึ้น ในภาพรวมช่วง 5 ปีนี้ ที่ลงทุนสูงคือที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ทอท.ได้วางแผนทางการเงินไว้แล้ว โดยมีเงินสดอยู่ 4.7 หมื่นล้านบาท ปีที่แล้วมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจ1.8 หมื่นล้านบาท มีกระแสเงินสดต่อปีอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในช่วง 4 ปีนี้มีเม็ดเงินอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทหรือหากต้องกู้เงินบ้างก็ไม่ได้มาก เป็นแค่การกู้เพื่อบริหารกระแสเงินสด" นายนิตินัยกล่าว

โดยขณะนี้แผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดไปแล้ว ส่วนแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมือง จะนำเสนอบอร์ดพิจารณาในวันที่ 23 มีนาคมนี้ ในส่วนของการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากจะอยู่ระหว่างดำเนินระยะที่ 2 หรือเฟส 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) ที่ได้รับการอนุมัติจากครม.เมื่อปี 2553 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท และทอท.ปรับลดงบก่อสร้างไปได้อีก 6 พันล้านบาทแล้ว

"ขณะนี้ทอท.จะเพิ่มการลงทุนในโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และการก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท และการชดเชยผลกระทบทางเสียง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดแล้ว"

นายนิตินัยยังกล่าวอีกว่า ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งแบ่งเป็น 7 สัญญา ในขณะนี้มี 3 สัญญาที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐหรือคตร.แล้ว กรอบวงเงินราว 1.5 หมื่นล้านบาท-2 หมื่นล้านบาทจะประกาศประกวดราคาได้ภายในไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อหาผู้รับเหมาช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งได้แก่งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก)งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และงานจัดงานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC)

ส่วนอีก 4 สัญญาที่เหลือ คือ งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) , งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก,งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ,งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) ตามมา

ในโครงการเฟส 2 หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องแยกสัญญางานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) และงานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก)ออกมาเป็น 2 สัญญาทั้งๆที่เป็นเรื่องของงานก่อสร้างอาคารเทียบบินรองหลังที่ 1

นายนิตินัย ชี้แจงว่า "ที่ทำเช่นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาหลายรายสามารถเข้ามายื่นประกวดราคาได้ เพราะหากรวมกันเป็นสัญญาเดียว มูลค่าจะสูงมาก ทำให้จะเหลือผู้รับเหมาเพียงรายเดียว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าITO ที่จะมีคุณสมบัติที่จะเข้าประมูลได้ เพราะเคยมีผลงานการก่อสร้างโครงการใหญ่อย่างสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสที่เปิดให้บริการมาก่อน ส่วนข้อเสีย คือ ความยุ่งยากบ้างในส่งการส่งมอบงานระหว่าง 2 สัญญานี้ ที่ต้องสัมพันธ์กัน ซึ่งทอท.ก็คงต้องมาดูแลเรื่องของการส่งมอบงานอย่างใกล้ชิด แต่หากประมูลออกมาไว้ผู้รับเหมาเป็นรายเดียวกัน ก็น่าไม่น่ามีปัญหา"

ทั้งยังระบุอีกว่า ในส่วนของการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง นอกจากการลงทุนในเฟส 2 คือการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 2 สำรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ การปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 (เพียร์5)ที่เปิดให้บริการแล้ว จะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มีนาคมนี้ หลังจากนั้นหากบอร์ดทอท.ผ่านความเห็นชอบแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมือง ก็จะเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นอาคารเก่า เฉพาะระบบแอร์ ที่ใช้งานมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งจะมีการทยอยปิดเป็นส่วนๆ เพื่อปรับปรุงไฟฟ้า แสงสว่าง เคาน์เตอร์เช็คอิน ที่จะปรับให้ระบบ In-Line screening

รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะ 3 ได้แก่ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเดิมซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เปิดใช้งาน การทุบอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อนำมาใช้สำหรับพื้นที่จอดรถ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (Junction Terminal) โดยจะมีการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างตัวอาคารกับสถานีรถไฟฟ้าดอนเมืองที่จะเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทาง บางซื่อ – รังสิต และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์สายพญาไท –ดอนเมืองที่จะแล้วเสร็จในช่วงปี 2563-2564 และการสร้างอาคารจอดรถเพื่อรองรับรถยนต์ได้อีกกว่า 3 พันคัน คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของดอนเมืองจาก 30 ล้านคนต่อปีเป็น 40 ล้านคนต่อปีเต็มศักยภาพการรองรับของสนามบิน

นอกจากนั้นในส่วนของการสนามบินภูเก็ต นอกจากจะอยู่ระหว่างการดำเนินการในโครงการพัฒนาสนามบินระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 6.5 ล้านคนต่อปีเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี ที่มีการสร้างทางขับและลานจอดรถ งานก่อสร้างและปรับปรุงระบบเติมน้ำมัน งานก่อสร้างอาคารทดแทน อาคารคลังสินค้า ที่ดำเนินการเสร็จแล้ว เหลืองานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ(อาคารหลังใหม่)ที่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ และทดสอบระบบต่างๆ ให้สมบูรณ์ เพื่อให้พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ทอท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการขยายการลงทุนในการพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยในขณะนี้ได้ดำเนินการซื้อที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ราว 50 ไร่ด้านนอกของสนามบิน เพื่อก่อสร้างบ้านพักให้พนักงาน และย้ายออกจากสนามบิน เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาสร้างลานจอดอากาศยาน นายนิตินัย กล่าวทิ้งท้าย

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดทอท.ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ จะมีการพิจารณากรอบงบประมาณปี 2560 ที่ต้องนำเสนอ สศช. โดยทอท.ตั้งกรอบวงเงินลงทุนที่ 8.1 หมื่นล้านบาท ตั้งกรอบการเบิกจ่ายไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาทในจำนวนนี้ เป็นงบลงทุนของเฟส 2 สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 1.4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการนำเสนอคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นเสนอประมูลราคา 3 สัญญาเฟส 2 สนามบินสุวรรณภูมิและขออนุมัติกรอบลงทุนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และรันเวย์ 3 วงเงิน 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งสองโครงการหลังต้องผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนจึงจะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อนำเสนอให้ครม.อนุมัติโครงการต่อไป โดยจะผลักดันให้เกิดการลงทุนคู่ขนานกันไปกับเฟส 2

ส่วนการประชุมบอร์ดวันที่ 23 มีนาคมนี้ เป็นการพิจารณาแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นวาระสำคัญ นอกจากทอท.ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท พัฒนาสนามบินหาดใหญ่ซึ่งเป็นงานปรับปรุงประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการ เช่น งานปรับปรุงลานจอดอากาศยาน งานติดตั้งสายพานเทียบเครื่องบินเพิ่มเติม โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 15 ล้านคนต่อปีเป็นแผนระยะยาวถึงปี2561 เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559