แห่นำเข้าเพิ่ม!คู่ค้าเร่งออร์เดอร์หวั่นนํ้าตาลขาด

08 มี.ค. 2559 | 00:30 น.
เพื่อนบ้านนำเข้าน้ำตาลจากไทยพุ่งโดยเฉพาะ อินโดนีเซีย จีน และเมียนมา วงการน้ำตาลเผย มี 3 เหตุผลนำเข้าน้ำตาลเพิ่ม โดยเฉพาะเร่งทำสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าหลังน้ำตาลโลกอยู่ในภาวะตรึงหรือขาดแคลน จับตาเมียนมานำเข้าน้ำตาลจากไทยสูงกว่าปริมาณบริโภคภายในประเทศ พบตะเข็บชายแดนมีการลักลอบส่งออกไปจีน กินส่วนต่างราคาสูงกว่าเท่าตัว

สืบเนื่องจากที่ "ฐานเศรษฐกิจ" นำเสนอข่าว "โลกระส่ำ!พิษน้ำตาลขาด" หลังจากที่ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ทั้งบราซิล อินเดีย และไทยต่างเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลต่ำลง และมีแนวโน้มว่าน้ำตาลโลกจะขาดแคลนแน่ราว 5-6 ล้านตันนั้น

[caption id="attachment_36198" align="aligncenter" width="352"] ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์  ผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์
ผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด[/caption]

ต่อเรื่องนี้นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า น่าจับตามองที่ขณะนี้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลจากประเทศไทยไปยังประเทศปลายทางที่สำคัญมีสถิติสูงขึ้นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2557 และ 2558 และประมาณการปี 2559 พบว่า บางประเทศนำเข้าน้ำตาลชนิดต่างๆ จากไทยรวมกันสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ที่นำเข้า 1.74 ล้านตันน้ำตาล เพิ่มเป็น 1.89 ล้านตันน้ำตาล และคาดการว่าปี 2559 จะเพิ่มเป็น 3.20 ล้านตันน้ำตาล

ส่วนจีนเมื่อปี 2557 นำเข้าน้ำตาลจากไทย 7.06 แสนตันน้ำตาลในปี 2557 และเพิ่มเป็น 8.87 แสนตันน้ำตาลปี 2558 และคาดการณ์ว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 1.0 ล้านตันน้ำตาล ขณะที่เมียนมา เมื่อปี 2557 มีการนำเข้าน้ำตาลจากไทย 1.30 แสนตันน้ำตาล เพิ่มเป็น 6.77 แสนตันน้ำตาล เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมียนมาบริโภคน้ำตาลยังไม่มาก และคาดว่าปีนี้จะมีการนำเข้าน้ำตาลจากไทยอยู่ที่ราว 4 แสนตันน้ำตาล

สอดคล้องกับที่นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่าการที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศไทยมากขึ้น เกิดจาก 3 สาเหตุหลักคือ 1.ค่าขนส่งน้ำตาลจากไทยไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนถูกกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งน้ำตาลจากผู้ผลิตน้ำตาลรายอื่น ที่มีระยะทางไกลกว่า 2.ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความต้องการใช้น้ำตาลราว 10 ล้านตันต่อปี แต่ผู้ผลิตไทยสามารถส่งออกน้ำตาลไปยังทั่วโลกได้เพียง 7-8 ล้านตันเมื่อปี 2558 3.ผู้นำเข้าน้ำตาลต่างเร่งทำสัญญาซื้อ-ขายน้ำตาลล่วงหน้าในปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในภาวะตึงตัวถึงขั้นขาดแคลน

"ในประเด็นสุดท้ายก็ต้องดูในแง่ผู้ขายน้ำตาลด้วย แม้ว่าอยากขายมากขึ้น โดยเร่งทำสัญญาก็มีความเสี่ยงว่าจะไม่มีน้ำตาลส่งมอบได้ ถึงเวลานั้นก็จะถูกปรับได้"

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล กล่าวเพิ่มเติมว่าเวลานี้ที่น่าจับตามองคือ การบริโภคน้ำตาลในจีนที่สูงขึ้นถึง 15 ล้านตันต่อปี ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลในจีนมีเพียง 9-10 ล้านตันต่อปี ทำให้ส่วนต่างที่ขาดอยู่ จีนต้องนำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งเมื่อปี 2558 จีนมีการนำเข้าน้ำตาลจากทั่วโลก 4.8 ล้านตัน คาดว่าปี 2559 จีนจะนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 5.5 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้จีนจะนำเข้าน้ำตาลจากไทยสูงขึ้นจาก 8.87 แสนตันในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 1.0 ล้านตันในปีนี้

นอกจากนี้การที่รัฐบาลจีนห้ามนำเข้าน้ำตาลเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับราคาน้ำตาลภายในประเทศจีนไม่ให้ราคาตกต่ำลง เพราะเมื่อใดที่ราคาอ้อยและน้ำตาลร่วงลง เกษตรกรจะหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนทันที ยิ่งกดให้น้ำตาลขาดแคลนหนักขึ้น

จากกรณีดังกล่าวทำให้ที่ตะเข็บชายแดนพม่ามีการลักลอบขนน้ำตาลทรายขาวไปขายยังจีน โดยจีนมีการลักลอบนำเข้าเพื่อเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามนำเข้าเป็นบางช่วง และมีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่เมียนมานำเข้าน้ำตาลจากไทยสูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศคาดว่าน่าจะมีน้ำตาลบางส่วนที่ซื้อจากไทยไป เพื่อลักลอบส่งออกไปขายให้ผู้ค้าจีนอีกทอดหนึ่งเพื่อกินส่วนต่างราคาที่น่าจูงใจ

"ราคาน้ำตาลทรายขาวที่ซื้อจากไทยอยู่ที่ราว 400-445 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และผู้ค้าเมียนมานำไปขายต่อให้ผู้ค้าจีนได้ในราคาราว 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในจีนอยู่ที่ราว 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำตาลขายปลีกในไทยถูกควบคุมอยู่ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น"

ข้อมูลจากบริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด ระบุว่า สถิติปริมาณการส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศปลายทางที่สำคัญ นอกจากอินโดนีเซีย จีน และเมียนมาตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่ไทยส่งออกน้ำตาล เช่น ญี่ปุ่น ปี 2557 นำเข้า 7.54 แสนตัน ปี 2558 จะนำเข้า 6.34 แสนตัน และคาดการณ์ปีนี้จะนำเข้า 6.30 แสนตัน, กัมพูชา นำเข้าปี 2557 จำนวน 5.45 แสนตัน ปี 2558 จำนวน 4.81 แสนตัน และปีนี้จำนวน 4.80 แสนตัน, เวียดนาม ปี 2557 นำเข้า 1.23 แสนตัน ปี 2558 เพิ่มเป็น 3.81 แสนตัน ปี 2559 จะนำเข้า 3.80 แสนตัน เป็นต้น

อนึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 โดยปีที่ผ่านมามีปริมาณส่งออก 7-8 ล้านตันต่อปี รองจากบราซิล ที่มีการส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ที่จำนวน 30-35 ล้านตันต่อปี ส่วนในแง่ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ประกอบด้วยประเทศบราซิล ไทย อินเดีย ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งในจำนวนนี้จีนและอินเดียส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศตัวเองเป็นหลักก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559