เคาะเยียวยาประมงอีก 500 ล้าน ลำเรือจดทะเบียนไม่ทัน 15 มี.ค.ร่วม 1 หมื่นลำ

08 มี.ค. 2559 | 10:30 น.
"ประวิตร" เคาะเยียวยาเรือประมงรอบ 2 อีก 500 ล้าน ให้ออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปรับเปลี่ยนอาชีพ-เปลี่ยนเครื่องมือ จ่อชงครม. 8 มี.ค. ขณะนำร่องประมงพื้นบ้านโพงพางโมเดล 300 ราย วงเงินกว่า 205 ล้านบาทยังไม่สรุป เตรียมลงพื้นที่เจรจากับชาวบ้านอีกครั้ง ด้านสมาคมประมง ประเมินเรือไม่สามารถจดทะเบียนได้ทัน 1 หมื่นลำ

[caption id="attachment_36168" align="aligncenter" width="500"] จำนวนเรือที่ทำการประมงของจังหวัดชุมพร ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ณ 26 ก.พ. 2559 จำนวนเรือที่ทำการประมงของจังหวัดชุมพร ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ณ 26 ก.พ. 2559[/caption]

พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะที่ 1 เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. คณะที่ 1 (2 มี.ค.) ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ได้มีมติเห็นชอบการช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ "ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล" เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำประมงใหม่ ในรอบที่ 2 วงเงิน 500 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อราย 2 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 827 ราย

ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการประมงใหม่นั้น เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการประมงว่าทางธนาคารออมสินได้ปล่อยกู้ในรอบแรก 1 พันล้านบาทไปหมดแล้ว และผู้บริหารธนาคารออมสินได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าเป็นความจริง ดังนั้นจึงได้มีมติเห็นชอบที่จะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้สำหรับชาวประมงในรอบที่ 2 ในวงเงินดังกล่าว โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมวันที่ 8 มีนาคมนี้

พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมยังมีการหารือกลุ่มประมงพื้นบ้าน ซึ่งนำร่องในจังหวัดพัทลุง-สงขลา ที่ขอปรับเปลี่ยนเครื่องมือ/อาชีพจำนวน 300 ราย วงเงิน 205 ล้านบาท ผลจากที่ประชุมจะนำไปลงพื้นที่แจ้งกับชาวบ้านด้วยตนเองในสัปดาห์หน้า หากชาวบ้านยอมที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพโดยมีเงินสนับสนุนแล้วรื้อโพงพางออก จะนำเรื่องกลับเข้ามาสู่การหารือในที่ประชุมอีกครั้ง ก่อนนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ขณะที่นายมงคล เจริญสุขคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยถึงความคืบหน้าล่าสุดกรณีความเดือดร้อนของสมาคมประมง 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี บริเวณ 3 จังหวัดดังกล่าวที่มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม โดยประมาณของทุกปี และมีการปิดอ่าวเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำอีก 3 เดือน ตั้งแต่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี ทำให้เวลาในการทำการประมงของ 3 จังหวัดมีเพียงแค่ 6 เดือน และระยะเวลาที่เหลือหากไม่สามารถออกไปทำประมงได้จะทำให้เครื่องมือในการทำการประมงเกิดการชำรุดเสียหายเมื่อมาทำการประมงใหม่จะต้องลงทุนใหม่อีกคิดเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งเจ้าของเรือบางลำปัจจุบันก็มีหนี้สินมาก ทางสมาคมการประมงจึงได้นำเสนอในที่ประชุม ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เรียบร้อยแล้วและ ทาง ศปมผ.ได้สั่งการให้ทางกรมประมงไปดำเนินการแล้ว โดยเบื้องต้นให้สามารถทำประมงทั้ง 2 ฝั่งทะเลได้ จากปัจจุบันกฎหมายให้เลือกทำฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ทั้งนี้โดยการช่วยเหลือต้องไม่เกินค่าผลการจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างยั่งยืน (MSY) จากการสำรวจเรือล่าสุด ทางกรมประมง ได้สำรวจจำนวนเรือประมงฝั่งอันอาดามันและฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร รวม 188 ลำ มีเรือขนาดตั้งแต่ 10-60 ตันกรอส ขึ้นไป (ดูตารางประกอบ)

ขณะเดียวกันล่าสุด ทางสมาคม ทำหนังสือ เลขที่ สปท 074/2559 เรื่องขอนำคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยชุดใหม่ (คณะบริหารสมาคมฯ วาระ 2 ปี ระหว่าง ปี 2559-2561) เข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ อาทิ 1. การขอใบอนุญาตทำการประมง (อาชญาบัตร) สามารถขอได้ตลอดทั้งปีหรือไม่ เนื่องจากตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 44 ใบอนุญาตทำการประมงจะโอนกันมิได้ ซึ่งหากมีการซื้อขายเรือเกิดขึ้น จะทำอย่างไร 2. เรื่องที่ขออนุญาตเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งแล้วใบอนุญาตเครื่องมือนั้นเต็ม ขอให้สามารถขอใบอนุญาตเครื่องมืออื่นๆ ได้ และ 3.การขออนุญาตทำประมง (อาชญาบัตร) ให้เวลา วันที่ 1-15 มีนาคม 2559 คาดว่าจะมีเรือที่ไม่สามารถได้ทันประมาณ 1 หมื่นลำ (กรมเจ้าท่า กำลังวัดขนาดเรือ ประมาณ 4 พันลำ) จากจำนวนเรือทั้งประเทศในระบบ 4 หมื่นลำ โดยเงื่อนไขของกรมประมง เรือที่ต่ออาชญาบัตรได้จะต้องคีย์เข้าระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559