ขู่ใช้ก.ม.บีบ 16 รายลดนำเข้า หั่นพ่อ-แม่พันธุ์เหลือ 6 แสนตัว/เศรษฐกิจแย่คนกินไข่เพิ่ม

07 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
เกษตรกรแฉตัวเลขนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ ปี 59 ทะลัก "ฉัตรชัย" บีบ 16 รายหั่นลด 6 แสนตัว ขู่ใช้กฎหมายควบคุมนำเข้า หลัง "กฤษฎีกา" ตีความเปิดช่องใช้อำนาจได้ เผยอานิสงส์เศรษฐกิจแย่ คนหันมาบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น ชี้ปีนี้ปัจจัยเสี่ยงโรคระบาด อาจซ้ำรอยปี 54 ราคาปรับขึ้นไปถึงฟองละ 4 บาท ด้าน "ไพโรจน์" ประเมินผลผลิตสถานการณ์ยังไม่น่าห่วง

[caption id="attachment_36129" align="aligncenter" width="503"] ปริมาญการส่งออกไข่ไก่สด เปรียบเทียบ ปี  2557 - 2558 ปริมาญการส่งออกไข่ไก่สด เปรียบเทียบ ปี 2557 - 2558[/caption]

นายมาโนช ชูทับทิม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" หลังการประชุมเอ้กบอร์ด โดยมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน(3 มี.ค.59)ว่า ในที่ประชุมทางกรมปศุสัตว์ได้รายงานแผนการนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์(P.S.) ใน ปี 2559 โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ 16 ราย ได้เสนอแผนนำไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์เข้าเลี้ยงจำนวน 8.14 แสนตัว เพิ่มจากแผนนำเข้าปีที่แล้ว 6.84 แสนตัว หรือเพิ่มขึ้น 19 % มองว่าเป็นจำนวนมากเกินความต้องการเมื่อเทียบกับการนำเข้าก่อนนโยบายการเปิดเสรีไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ในปี 2553

"ที่ประชุมได้ถกเถียงกันถึงปริมาณนำเข้าที่สมดุลหรือมีความเหมาะสม 6 แสนตัว ทางรัฐมนตรี จึงได้สั่งให้ทางกรมปศุสัตว์ไปเจรจากับผู้นำเข้าทั้ง 16 รายให้ได้ข้อสรุป ถ้าไม่ได้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความมาแล้วว่า ทางเอ้กบอร์ดมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งห้ามผู้ประกอบการหรือองค์กรผู้เลี้ยงนำเข้า เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำได้"

ทั้งนี้ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าอยู่หลายฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.การส่งออกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 2. พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 3. พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และ 4. พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495 ซึ่งทางเอ้กบอร์ดอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวได้ และหากไม่อาจใช้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวได้ตามที่จำเป็น ก็อาจดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายขึ้นเป็นการเฉพาะต่อไป

นายมาโนช กล่าวถึง สถานการณ์ราคาไก่ไข่ในปีนี้หากเทียบกับปลายปี 2558 หรือหากเทียบในเวลาเดียวกันของปีนี้กับปี 2558 จะเห็นว่าราคาไข่ไก่ขยับดีขึ้น มองว่าการรณรงค์ของรัฐบาลที่ผ่านมาได้ผล รวมทั้งเวลานี้เศรษฐกิจในประเทศไม่ค่อยดี ทำให้คนหันมาบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น แต่ราคาไม่อยากให้สูงไปกว่านี้เพราะห่วงคนจะหันไปบริโภคอย่างอื่นมากขึ้น อย่างไรก็ดีราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 2.80-2.85 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรยอมรับได้

"ปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงมากต่อการเลี้ยงไก่ โดยเฉพาะโรคระบาด(นิวคาสเซิล)ที่ขณะนี้ได้ระบาดไปทั่วภาคตะวันตก อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี เป็นต้น ซึ่งควบคุมโรคได้ยาก เนื่องจากวัคซีนที่เคยทำขึ้นมาใช้ก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำมาใช้ควบคุมได้ เนื่องจากโรคมีการปรับตัวต้านทานวัคซีนได้สูงขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ท้องตลาดลดลง จะคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2554 ที่ไข่ไก่ขยับขึ้นไปฟองละ 4-5 บาท ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ขณะนี้กำลังทำงานกันอย่างหนักต้องให้กำลังใจกัน"

แหล่งข่าวกรมปศุสัตว์ เผยถึง สถานการณ์ส่งออกไข่ไก่สด ปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 340.37 ล้านฟอง มูลค่า 1.1 พันล้านบาท ปริมาณ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สัดส่วน 98% และอีก 2% เป็นประเทศอื่นๆ 2% (ดูตารางประกอบ)

ด้านนสพ.ไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ประชุมเอ้กบอร์ดครั้งล่าสุดได้ประมาณการผลผลิตและตลาดไข่ไก่ ปี 2559 ว่า ปัจจุบันมีแม่ไก่ยืนกรงเฉลี่ยที่ 54.7 ล้านตัว ผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 42.12 ล้านฟอง/วัน ซึ่งจากการพิจารณาของคณะกรรมการ คาดว่า ตลอดทั้งปี 2559 ปริมาณอุปสงค์และอุปทานของไข่ไก่จะมีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ราคาไข่ไก่ค่อนข้างคงที่ มีความเหมาะสมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่วนกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ ตามยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ปี 2557-2561 ที่มีเป้าหมายใน ปี 2561 จะรณรงค์ให้คนไทยบริโภคไข่ไก่ให้ได้ 300 ฟอง/คน/ปี แต่ปัจจุบันการบริโภคยังอยู่ในระดับ 200 ฟอง/คน/ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559