ห่วงแล้งหมูรายย่อยปิดตัว CPFตั้งเป้าปีนี้3 หมื่นล้าน

08 มี.ค. 2559 | 06:00 น.
ซีพีเอฟห่วงภัยแล้งกระทบทำฟาร์มหมูเกษตรกรปิดตัว ยันฟาร์มบริษัท-คอนแทร็กฟาร์มฯไม่กระเทือน ฟันธงราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปีนี้เฉลี่ยที่ 64-65 บาท/กก.ไม่ขยับไปกว่านี้จากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้น ฟุ้งเป็นฟาร์มแรกที่ได้รางวัล TQC มั่นใจรายได้ปีนี้ 3 หมื่นล้านบาท ชี้ไทยร่วมทีพีพีธุรกิจหมูกระทบแน่

นายสมควร ชูวรรณธนะปกรณ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยถึงปัญหาภัยแล้งในปีนี้ว่าเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรอาจจะได้รับผลกระทบ และหยุดเลี้ยงไปบ้างจากขาดแคลนน้ำ ประกอบกับกำลังซื้อของประเทศที่ยังไม่ฟื้นอย่างที่ควร อาจจะส่งผลให้ราคาสุกรขยับขึ้นยาก โดยขณะนี้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 64-65 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งราคาน่าจะทรงๆ ในระดับนี้ไปทั้งปี ในส่วนของซีพีเอฟเองไม่ได้รับผลกระทบเพราะฟาร์มเลี้ยงสุกรของซีพีเอฟ และฟาร์มที่บริษัทได้ทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในทำเลที่มีระบบน้ำที่ดี ขณะที่บริษัทมีระบบประหยัดน้ำ

"ธุรกิจสุกรของไทยที่ดีที่สุดคือปี 2557 ที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีกำไรมากที่สุด พอมาปี2558กำไรลดลงมาบ้างจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนปีนี้เท่าที่ดูยังมีความเสี่ยงแต่ถ้าเทียบกำลังซื้อถือว่าดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ธุรกิจสุกรขึ้นกับดีมานด์และซัพพลาย ขณะที่ภาครัฐก็มีโครงการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคมีกำลังในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ปัญหาใหญ่เวลานี้คือ ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมราคาตกต่ำ และยังมีปัจจัยเสี่ยงคือภัยแล้งที่จะเกิดในช่วง 3-4 เดือนนี้"

อย่างไรก็ตามในธุรกิจสุกรของซีพีเอฟได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรเทียบเท่าองค์กรของโลก เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายความมุ่งมั่นความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านการผลิตสุกรที่มีคุณภาพและสุขภาพดี โดยได้นำหลักเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาประยุกต์เพื่อพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสุกรให้ครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การพัฒนาและการปรับปรุงสายพันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพ การจัดการโรงเรือนตามมาตรฐาน การผลิตอาหารที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของสุกรทุกช่วงวัย ไปจนถึงกระบวนการจัดการระบบเพื่อป้องกันโรค

ล่าสุดซีเอฟ สามารถคว้ารางวัล "การบริหารสู่ความเป็นเลิศ" หรือ Thailand Quality Class (TQC) ประจำปี 2558 จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นสายธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นองค์กรชั้นนำของไทยที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานสากล

"ซีพีเอฟเป็นฟาร์มแห่งเดียวของประเทศไทยที่สามารถผลิตสุกรพันธุ์และลูกสุกรปลอดโรค PRRS ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และยังเป็นองค์กรแรกในด้านการพัฒนานวัตกรรมการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคจากตัวอย่างน้ำลายสุกรที่เก็บตัวอย่างได้สะดวกขึ้น โดยให้สุกรเคี้ยวเชือกแล้วเก็บน้ำลายเพื่อนำไปตรวจโรค ทดแทนการเจาะเลือดสุกรแบบเดิม" นายสมควร กล่าวและว่า

รายได้ปีนี้ของซีพีเอฟในส่วนธุรกิจสุกรปีนี้ตั้งเป้าที่ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยสัดส่วน 98% เป็นการจำหน่ายในประเทศ และอีก 2% เป็นการส่งออก โดยมีตลาดหลัก เช่น ฮ่องกง สิงคโปร และมาเลเซีย

ส่วนการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ของไทยนั้น ถ้ามีการเปิดเสรีจะมีสุกรที่มีราคาถูกกว่าไทยเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เกษตรกรจะได้รับผลกระทบ แต่ทั้งนี้คิดว่าผู้บริหารประเทศคงดูแล้วว่าถ้าไทยเข้าร่วม TPP จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรซึ่งก็คงอีกหลายปีกว่าจะมีการเข้าร่วม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559