'อนุสรณ์' เสนอ 9 มาตรการแก้เหลื่อมล้ำ

09 ธ.ค. 2561 | 11:16 น.
ชี้! การให้สัมปทานกับทุนขนาดใหญ่และการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินตามแนวก่อสร้างระบบขนส่งคมนาคม ทำให้มูลค่าทรัพย์สินและความมั่งคั่งเพิ่มในอัตราก้าวหน้า - เผย การใช้ทรัพยากรที่ดินอาจปีปัญหาการควบคุมในอนาคต - สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นโจทย์และความท้าทายของไทย 'อนุสรณ์' เสนอ 9 มาตรการแก้ และต้องใช้เวลา

กรณีที่ CS Global Wealth Report 2018 โดยธนาคารเครดิตสวิส ระบุว่า คนไทยเพียง 1% ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง 66.9% และยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสถาบันการเงินเครดิตสวิส เคยออกรายงานความมั่งคั่งของโลก ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคนรวยที่มีสัดส่วน 1% ของประชากร ครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 58% ของระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ข้อมูลของโครงสร้างเงินฝากในระบบสถาบันการเงินยังพบว่า คนรวย 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับ 49% ของเงินฝากทั้งระบบ กลุ่ม 10% แรกของประชากร เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงข้อมูลของ CS Global Wealth Report ของธนาคารเครดิตสวิส ว่า อาจจะไม่ครบถ้วนทั้งหมด โดยหากนับรวมทรัพย์สินที่มีค่าอื่น ๆ เช่น อัญมณี เครื่องประดับ ของสะสมที่มีมูลค่าสูง (ภาพเขียน ศิลปะต่าง ๆ แสตมป์ พระเครื่อง) นาฬิกาหรู กระเป๋าหรู รถหรู เป็นต้น หากนับรวมคน 1% อาจถือครองความมั่งคั่งและทรัพย์สินมากกว่า 70% ของทรัพย์สินและความมั่งคั่งของประเทศ เชื่อว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและทรัพย์สินนี้น่าจะรุนแรงกว่าตัวเลขที่ปรากฎเผยแพร่ เนื่องจากไม่สามารถสำรวจข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มประชากรที่มีรายได้และถือครองทรัพย์สินสูงสุด 5-10% ได้อย่างครบถ้วน ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์นี้จะนำมาสู่ความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอนาคต

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือ การให้สัมปทานกับทุนขนาดใหญ่และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของที่ดินตามแนวการก่อสร้างระบบขนส่งคมนาคม ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นทางด้านมูลค่าทรัพย์สินและความมั่งคั่งในอัตราก้าวหน้า จึงเป็นโจทย์และความท้าทายว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้ความมั่งคั่งและการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้กระจายตัวให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการศึกษาเพื่อนำระบบภาษีเพิ่มมูลค่า (Betterment Tax) หรือ ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) มาบังคับใช้ จะนำรายได้ภาษีส่วนหนึ่งไปพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ไม่ให้เกิดการกระจุกตัว นอกจากแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) จำนวนมาก ภายใต้การเมือระบบปิดและการดำเนินนโยบายเสรีนิยมสุดโต่ง ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยไม่ใช้กลไกรัฐในการแทรกแซง เพื่อสร้างความเป็นธรรม ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งย่ำแย่ลง

นอกจากนี้ นโยบาย EEC แม้จะมีประโยชน์และควรเดินหน้า แต่ต้องปรับให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ทำกินและมีการเก็งกำไรที่ดินในพื้นที่ EEC อย่างรุนแรง จนประชาชนหรือกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้เหมือนเดิม ซึ่งผลวิจัยจำนวนไม่น้อยบ่งชี้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา "การตะครุบที่ดิน" (Land Grabbing) โดยทุนขนาดใหญ่ต่างชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหลายและจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ระบบข้อมูลการถือครองที่ดินที่ไม่ชัดเจนจะทำให้ปัญหาการตะครุบที่ดินรุนแรงมากขึ้นในอนาคต แม้นที่ดินจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศได้ แต่การเป็นเจ้าของที่ดินอาจส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรที่ดิน ซึ่งรัฐอาจมีปัญหาในการควบคุมการใช้ได้

"กระทรวงการคลังจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งความมั่งคั่งและด้านเศรษฐกิจนี้ได้โดยตรง ผ่านการบังคับกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีทรัพย์สิน (ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีเงินฝาก) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสภาวะความเหลื่อมล้ำได้ทำลายศักยภาพของประเทศและคนไทยส่วนใหญ่ ทั้งขาดโอกาส ไร้ทรัพย์สิน และปัญหาเข้าถึงปัจจัยการผลิต ดังนั้น แม้เป็นเรื่องที่แก้ไขยากและต้องใช้เวลา แต่จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน"

สำหรับมาตรการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้น จึงเสนอ 9 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ปฏิรูปการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งให้เกิดความเป็นธรรมและใช้กลไกภาษีทรัพย์สินให้เกิดการกระจายตัวของทรัพย์สินและความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ปรับปรุงภาษีต่าง ๆ ให้มีอัตราก้าวหน้ามากขึ้น

2.จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อลดอำนาจผูกขาดและเพิ่มการแข่งขัน บังคับใช้หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า อย่างจริงจัง 3.เพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ 4.เพิ่มสวัสดิการพื้นฐาน เช่น ระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมให้กับผู้มีรายได้น้อยแบบยั่งยืนและเป็นระบบ พัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเดิม) ให้มีความยั่งยืนทางการเงินและคุณภาพในการให้บริการดีขึ้น พัฒนาระบบทุนการศึกษายกเลิกนโยบายเอาเงินแจก

5.พัฒนาระบบนิติรัฐ ระบบความยุติธรรมและประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง ต้องใช้วิธีลดอำนาจรัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มอำนาจประชาชน เพิ่มโอกาส เพิ่มสิทธิให้ประชนชน 6.การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องคำนึงถึงการกระจายโอกาสและการกระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่ด้วย และควรศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยเพื่อนำผลประโยชน์ส่วนเกินที่ได้จากการลงทุนจากงบประมาณของรัฐไปพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ลง

7.ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 8.ลดการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการทุจริตในเชิงนโยบาย ในการผ่องถ่ายผลประโยชน์และอำนาจผูกขาดโดยรัฐไปยังกลุ่มทุนผูกขาดรายใหญ่ การปฏิรูป การลดภาระทางการคลัง การเพิ่มประสิทธิภาพใด q ของรัฐวิสาหกิจต้องอยู่บนพื้นฐานของทำให้เกิดการปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นในกิจการนั้น และ 9. เพิ่มค่าจ้างและผลิตภาพแรงงาน ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามคำนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำฉบับที่ 131 ขององค์กรแรงงานระหว่งประเทศ พยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำและเพิ่มผลผลิตต่อไร่

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก