ไม่รู้ไม่ได้

09 มี.ค. 2559 | 06:00 น.
เห็นข่าวกระทรวงพาณิชย์กำลังประสานกับกรมศุลกากรและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีสกัดไม่ให้มันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งเข้ามาไทยอย่างผิดกฎหมายซึ่งกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าหากหยุดการ "ลักลอบ" นี้ได้แล้วราคามันสำปะหลังไทยจะสูงขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้ซ้ำรอยกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงปี 2550 -2552 ที่รัฐบาลสมัยก่อนหน้ารัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ได้แทรกแซงราคาจนสูงเกินจริงจนสร้างแรงจูงใจให้มีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากเป็นผลให้สูญเสียเงินงบประมาณไปให้กับเกษตรกรต่างชาติหลายล้านบาท เหตุการณ์ที่รุนแรงกว่านี้อีกก็คือการประกันราคาข้าวที่สูงเกินจริงจูงใจให้มีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ทั้ง 3 เรื่องนี้เกิดขึ้นจาก 4 สาเหตุดังนี้ 1) รัฐต้องการช่วยเกษตรกรไทยให้ได้ราคาผลผลิตที่สูงโดยบิดเบือนราคาตลาดเป็นผลให้มีการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย 2) รัฐไม่มีกลไกในการสกัดการนำเข้าเนื่องจากไม่ได้วางแผนล่วงหน้า 3) รัฐไม่มีนโยบายระยะยาวในเรื่องการอุดหนุนสินค้าเกษตรแต่มีนโยบาย "ขอความร่วมมือ" เช่นขอให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยซื้อข้าวโพดให้สูงเพื่อประกันกำไรให้เกษตรกรแต่ขณะเดียวกันกลับไม่มีนโยบายกำหนดให้พ่อค้าคนกลางหรือโรงสีข้าวต้องซื้อข้าวเปลือกในลักษณะเดียวกันจึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อระบบการค้าในสินค้าแต่ละรายการ 4) รัฐไม่มีนโยบายพัฒนาโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรที่กำลังเผชิญกับปัญหามาตรฐานการผลิตให้ได้ตามมาตรการนำเข้าของประเทศนำเข้าที่มีพลวัฒน์สูงเช่นปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นต้นส่วนของการอุดหนุนสินค้าเกษตรนั้นในเบื้องต้นเราต้องยอมรับว่าการอุดหนุนยังจำเป็นต้องมีอยู่ (แม้แต่สหรัฐก็ยังมีมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรทั้งๆ ที่มีตลาดสินค้าล่วงหน้ามีเป็นร้อยปี) แต่รัฐจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานและต้นทุนที่แข่งขันได้

จึงขอนำเสนอแนวทางดังนี้ 1) ใช้นโยบายประกันรายได้เป็นหลักและการรับจำนำเป็นรองเพื่อสร้างความแน่นอนว่าเงินจะถึงตัวเกษตรกรจริง2)การนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านเกิดได้ทั้ง 2 กรณีคือราคาในไทยที่สูงกว่าหรือจำนวนในประเทศเพื่อนบ้านมากเกินพอดี ทั้ง 2 กรณีนี้กดดันราคาสินค้าเกษตรของไทย สิ่งที่เราต้องทำคือกำหนดให้ผู้ใช้เท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิ์ในการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เช่นให้สิทธินำเข้าแก่บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ในการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพราะผู้ผลิตกลุ่มนี้เป็นผู้ประกันราคา "สูง" ที่รัฐเรียกร้อง 3) ให้ใช้นโยบายนี้กับพืชอื่นๆ ด้วย ทั้งหมดซึ่งรวมถึงข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ยาง ฯลฯ และ 4) เพื่อการแข่งขันระยะยาวและยั่งยืนรัฐต้องกำหนดยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้ "เขียว" จริงซึ่งรายละเอียดสามารถจะหาได้จากภาคธุรกิจส่งออกเพราะกลุ่มนี้สัมผัสกับตลาดจึงต้องรู้ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559