"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย "พรรคการเมือง" หาเสียงผ่านโซเชียล

09 ธ.ค. 2561 | 06:13 น.
"นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทุกอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง "โซเชียลมีเดีย (Social Media) กับการเลือกตั้ง ปี 2562" เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชนในการติดตามข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้ง ปี 2562 รวมถึงผลการใช้โซเชียลมีเดียกับการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง

ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ พรรคการเมืองของการเลือกตั้ง ปี 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.92 ระบุว่า ไม่ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย และร้อยละ 23.08 ระบุว่า ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย


47688473_10156861779282418_7709376518618611712_n

เมื่อถามผู้ที่ติดตามผ่านโซเชียลมีเดียถึงช่องทางการใช้โซเชียลมีเดียในการติดตามข้อมูลข่าวสารของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ พรรคการเมือง ของการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.24 ระบุว่า ติดตามผ่านทางเฟซบุ๊ก (Facebook), แฟนเพจ รองลงมา ร้อยละ 44.29 ระบุว่า ติดตามผ่านทางไลน์ (Line) ร้อยละ 24.22 ระบุว่า ติดตามผ่านทางยูทูป (Youtube) ร้อยละ 5.88 ระบุว่า ติดตามผ่านทางอินสตาแกรม (Instagram) และร้อยละ 5.54 ระบุว่า ติดตามผ่านทางทวิตเตอร์ (Twitter)

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อข้อมูลการเลือกตั้ง ปี 2562 จากโซเชียลมีเดียว่าเป็นจริงทุกข้อมูล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.18 ระบุว่า เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างว่าเป็นจริงทุกข้อมูล รองลงมา ร้อยละ 33.15 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นว่าเป็นจริงทุกข้อมูล ร้อยละ 4.79 ระบุว่า เชื่อมั่นว่าเป็นจริงทุกข้อมูล และร้อยละ 0.88 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลของโซเชียลมีเดียต่อการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ เลือกพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 19.57 ระบุว่า มีผลมาก ร้อยละ 37.22 ระบุว่า มีผลค่อนข้างมาก ร้อยละ 25.32 ระบุว่า มีผลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 17.17 ระบุว่า ไม่มีผลเลย และร้อยละ 0.72 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) ได้อย่างเสรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.62 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 36.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.80 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก