BOJยังไม่มีแผนลดดอกเบี้ยซ้ำ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดอาจปรับนโยบายช่วงกลางปี

08 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุยังไม่มีแผนจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกในเวลานี้ หลังมีการปรับดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบ 0.1% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าการปรับลดดอกเบี้ยมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม

[caption id="attachment_36164" align="aligncenter" width="395"] ฮารุฮิโกะ คุโรดะ  ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ฮารุฮิโกะ คุโรดะ
ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)[/caption]

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในวันศุกร์ (4 มี.ค.) ต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก อย่างไรก็ตาม บีโอเจเตรียมพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงเพิ่มเติมโดยไม่ลังเลถ้ามีความจำเป็น "บีโอเจจะใช้นโยบายใน 3 มิติ คือ การผ่อนคลายเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และอัตราดอกเบี้ยอย่างมีประสิทธิภาพ"

นายคุโรดะกล่าวยืนยันว่า บีโอเจจับตามองความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นมีเงินทุนอย่างเพียงพอและมีกำไรที่ดีมาก

คำกล่าวของนายคุโรดะเป็นการส่งสัญญาณว่า บีโอเจจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 14-15 มีนาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า โอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของบีโอเจจะเป็นในช่วงเดือนกรกฎาคม หลังจากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่อ่อนแอ
รอยเตอร์ทำการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 14 รายในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์- 3 มีนาคม พบว่าเกือบทั้งหมดคาดการณ์ว่าบีโอเจจะปรับลดดอกเบี้ยภายในเดือนกรกฎาคม โดย 9 รายคาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนเดือนกรกฎาคม และ 4 รายคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม ส่วนอีกหนึ่งรายเชื่อว่าบีโอเจจะปรับดอกเบี้ยในการประชุมปลายเดือนตุลาคม

เคียวเฮ โมริตะ นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส เปลี่ยนคาดการณ์การปรับดอกเบี้ยจากเดือนมีนาคมไปเป็นเดือนกรกฎาคม โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดหุ้นเริ่มมีเสถียรภาพแม้ว่าจะเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันที่ประชุมจี 20 ได้แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการลดค่าเงินจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงซ้ำๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ และท้ายที่สุดจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบผลกระทบจากการใช้นโยบายล่าสุดเสียก่อน

บีโอเจสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับติดลบ 0.1% ในการประชุมเดือนมกราคม ซึ่งหมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเงินเพื่อฝากเงินไว้กับธนาคารกลาง อย่างไรก็ดี การนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ ซึ่งเป็นนโยบายที่คล้ายคลึงกับทางธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดค่าเงินเยนลง

ผลสำรวจจากรอยเตอร์พบว่า นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเงินเยนจะไม่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนตลอดช่วงปี 2558 จนกว่าจะถึงปลายปีนี้ และเมื่อเงินเยนไม่มีแนวโน้มอ่อนค่า นักเศรษฐศาสตร์จึงปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นลงเหลือ 0.4% ในปีงบประมาณหน้าที่จะเริ่มต้นในเดือนเมษายน ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1% ในปีงบประมาณ 2560 จากผลของการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีกำหนดจะปรับในเดือนเมษายน 2560

"ความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น นอกเหนือจากการปรับลดของราคาน้ำมันแล้ว เมื่อบีโอเจประเมินว่าไม่มีผลจากการอ่อนค่าของเงินเยนต่อการปรับขึ้นของราคา มีโอกาสที่บีโอเจจะผ่อนคลายนโยบายลงอีกครั้ง" ทาเคชิ มินามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยโนรินชูกิน กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายฮิโรชิ นากาโสะ รองผู้ว่าการบีโอเจ ส่งสัญญาณว่าทางธนาคารมีความพร้อมที่จะลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม แม้จะยังไม่ใช่ในเวลานี้ "เราออกแบบนโยบายในทางเทคนิคให้เราสามารถปรับดอกเบี้ยลงได้อีก แต่ผมไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าดอกเบี้ยจะลดต่ำลงได้มากน้อยเพียงใด" นายนากาโสะกล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่า จำเป็นจะต้องใช้เวลาเพื่อให้ตลาดรับนโยบายดังกล่าวและบีโอเจประเมินผลที่เกิดขึ้นเสียก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559