บริบทใหม่‘เศรษฐกิจ’ ‘โตตํ่า-ผันผวนแรง’

09 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
เศรษฐกิจโลกในยุคใหม่เป็นเศรษฐกิจที่ไม่สามารถคาดเดาความเปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จนเป็นที่มาของคำว่า "บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ" หรือ New normal โดยจะเห็นได้จากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันของแต่ละประเทศ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีที่ไม่เติบโตได้ดังเดิมเหมือนอย่างที่คาดหลังผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาเรื่อง "เดินหน้าเศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ (new normal) ที่ต้องเผชิญ" โดยได้เชิญวิทยากรภาคตลาดเงิน ตลาดทุน มาร่วมนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

[caption id="attachment_36413" align="aligncenter" width="353"] ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

  "new normal" หรือแค่ "ฤดูกาล"

เปิดเวทีด้วย "ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) (บมจ.) โดยระบุว่า คำว่า "บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ" หรือในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่คำใหม่ แต่มีการเอ่ยถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2543 หลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งตามปกติส่วนใหญ่ก็จะเชื่อว่าเมื่อเกิดวิกฤติแล้ว เศรษฐกิจหรือจีดีพีก็จะกลับไปเติบโตได้ตามระดับเดิมอย่างที่เคยเป็น แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าเศรษฐกิจโลกโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นต่อเนื่องหลายปี

จะเห็นได้ว่าหลังวิกฤติหลายประเทศทั่วโลกหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น การส่งออกลดลง มีการพูดถึงโลกาภิวัตน์น้อยลง รวมถึงธนาคารกลางของหลายประเทศต่างก็ฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือคิวอี (QE) และผลิตเงินให้กับรัฐบาล ซึ่งภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่าเป็น new nomal จริงๆ หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน ก็ยังไม่มีใครที่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้

เดิมมีปัจจัยที่ทำให้การเติบโตของโลกโตอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันปัจจัยสนับสนุนเหล่านั้นหายไป การค้าขายหยุดชะงักและยังไม่กลับมา เดิมตัวเลขการค้าโลกเติบโตปีละ 3% แต่ของไทยคาดว่าจะโต 5% มองว่า ยังยาก ในขณะนี้ไทยติดลบ 3 ปีต่อเนื่องนั้น สะท้อนว่าในความเป็นจริงแล้วที่ไม่เติบโต เป็นเพราะกำลังสูญเสียความสามารถการแข่งขันส่งผลให้เสียตลาดไปด้วย

"ประเทศที่เป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจตอนนี้เหนื่อยกันหมดจริงๆ และยังไม่แน่ใจว่าเป็น new normal จริงหรือไม่ อาจจะเติบโตต่ำ หรือแค่ฤดูกาล"

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงปีนี้มาจาก 3 เรื่อง ได้แก่ 1.Excess Capacity ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว กำลังการผลิตน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีจำนวนมาก และการค้าระหว่างประเทศที่ผลิตเกินความต้องการ 2.overleverage การเพิ่มหนี้ต่อจีดีพีในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน อาจมีปัญหาหนี้ที่เกิดมาก่อนหน้านี้หรือไม่ อีกทั้งญี่ปุ่นและยุโรป คิวอียังไม่หายไป รวมถึงมีหนี้ภาครัฐและดอกเบี้ยติดลบ และ 3.deflationary threat ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งส่งผลให้การลงทุนในตลาดพันธบัตรทั่วโลกขาดทุนทั้งหมด

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่ต้องกังวล ได้แก่ หนี้ครัวเรือนและการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ยากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่ติดลบต่อเนื่อง 2-3 ปี จะกระทบกับกำลังซื้อให้ลดลงโดยเฉพาะในภาคต่างจังหวัด

สำหรับปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจมีจาก 3 ปัจจัยเช่นเดียวกัน ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ถูกลง, 2. ประเทศพัฒนาแล้วผ่านช่วง develeraging และกำลังจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ 3.อัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ประชามติร่างรัฐธรรมนูญช่วงกลางปีนี้ หากเกิดกรณีไม่ผ่านจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในทิศทางของรัฐบาลมากขึ้น และอาจส่งผลให้นักลงทุนรอต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือไปลงทุนที่อื่นเลย

[caption id="attachment_36414" align="aligncenter" width="343"] ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี  บมจ.ธนาคารทหารไทย ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี
หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี
บมจ.ธนาคารทหารไทย[/caption]

 "นโยบายการเงิน" ยากระตุ้นที่ใช้ไม่ได้ผล

มาที่มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ "ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี" หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี บมจ.ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ที่แปลก จากเดิมที่เคยใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เป็นเข็มทิศในการดูแลนโยบาย ซึ่งทฤษฎีก็คงบอกได้ไม่หมด จึงควรต้องศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเพื่อสรุปเป็นทฤษฎีว่าเกิดอะไรขึ้น และนำมาทดลองกันใหม่

แต่ก็มีโจทย์อยู่ในส่วนของนโยบายการเงินไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการคิวอี หรือการทำให้ดอกเบี้ยต่ำ สิ่งที่ได้ก็ คือ ทางฝั่งของตลาดการเงิน ซึ่งทำให้มีแนวโน้มการลงทุนอยู่หลายปี แต่หากถามว่าช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ มองว่าเวลานี้เป็นสิ่งที่เริ่มแยกออกจากกัน

"เมื่อก่อนเรามองว่านโยบายการเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แม้กระทั่งนโยบายการเงินของไทยที่ยังไม่ได้ฉีกตำรา ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่งผ่านไปยังตลาดการเงิน การลงทุนเป็นหลัก เมื่อตลาดการเงินไม่ตอบสนองนโยบายดังกล่าว จึงเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจริงที่ไม่ร้อนแรงอย่างที่คาด"

"ดร.เบญจรงค์" กล่าวว่า ความเสี่ยงปีนี้ที่ต้องจับตา คือ เศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างน่ากังวล โดยมีแต่ข่าวลบออกมา และดูเหมือนว่าไม่มีใครรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เพราะปัจจุบันก็ยังชะลอตัวอยู่ ตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่ออกมาก็ชะลอตัวกว่าที่รัฐบาลคาด โดยจากการติดตามข้อมูลต่างๆ ที่ยังไม่ชัด ทำให้เป็นความเสี่ยงที่ยังวัดไม่ได้
โอกาสที่สำคัญทางการค้าของไทย คือ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา,ลาว,เมียนมา และเวียดนาม) เพราะมูลค่าการค้าของทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ขณะที่ตัวเลขภาคการส่งออกเดือนมกราคม 2559 ติดลบ 8.91% จึงเป็นคำถามที่ต้องกลับมาให้ความสนใจประเทศเหล่านี้มากกว่าคำว่าการค้าชายแดน

"หลังจากนี้จะวางแผนนโยบายเศรษฐกิจกันอย่างไรจะต้องคิดให้รอบคอบ ทิศทางการพัฒนาจะต้องมุ่งให้ชัด ซึ่งปัจจุบันยังไม่ชัด ยกตัวอย่างเช่น หากจะผลักดันอุตสาหกรรมที่มุ่งแค่การท่องเที่ยว ก็จะได้ประโยชน์แค่เมืองท่องเที่ยวหลัก 10 จังหวัดเท่านั้น หรือหากจะผลักดันการเป็นผู้นำการส่งออกที่เป็นการเติบโตในลักษณะของรูปตัวเอส (new s curve) เวลานี้การส่งออกก็ยังชะลอตัวอยู่" ดร.เบญจรงค์ กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

[caption id="attachment_36415" align="aligncenter" width="349"] วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด วิน พรหมแพทย์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด[/caption]

 ผู้จัดการกองทุน มองจีนยังมีมุมบวก

มาที่มุมมองของผู้จัดการกองทุน "วิน พรหมแพทย์" ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า คำว่าบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจมาจากความเปลี่ยนแปลงของจีดีพีที่เคยโตในระดับหนึ่ง แต่ภายหลังเกิดวิกฤติการฟื้นตัวกลับย่อตัวลงมา หรือจะกล่าวก็คือ จากนี้ไปเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้าลง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และญี่ปุ่น

โดยหากเปรียบเทียบการเติบโตในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาจะพบว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกโต 6.6% แต่มาทศวรรษนี้โตเพียง 3.7% ซึ่งต่างไปเกือบครึ่ง โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจากเดิมโต 5% เวลานี้เหลือประมาณ 2% ขณะที่จีนเคยโต 10% กว่าปัจจุบันเหลือแค่ 7% และจะกลายเป็น 5-6% ต่อไปในอนาคต

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นที่จับตาของนักลงทุนทั่วโลกในเวลานี้ ผู้บริหารกองทุนจากบลจ.ซีไอเอ็มบีฯ บอกว่าเขายังมองบวกต่อจีน โดยจีนโตมาหลาย 10 ปีด้วยการลงทุนทั้งภาครัฐหรือบีบให้ธนาคารปล่อยกู้ให้เอกชนลงทุน เรียกว่าลงทุนสารพัดทั้งการสร้างถนน หรือสร้างสะพาน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวทำให้จีนโตเร็ว เพียงแต่ไม่สามารถไปต่อ ทำให้จีนต้องปรับตัวจากการโตด้วยการลงทุนเป็นการโตด้วยการพึ่งพาการบริโภคภายใน หากทำให้จริงจะดีต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมาก อีกทั้งจะทำให้เพื่อนบ้านไม่กระทบมาก เนื่องจากไม่เกิดการถูกลากให้ไปโตเร็วด้วยและตกลงมาอย่างเร็ว ก็จะกลายเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่มองว่าจีนอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีและจะต้องทำอีกหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบธนาคาร เปิดให้เงินไหลเข้าออกมากขึ้น ทำให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นต้น

"ปัจจัยที่น่ากังวลและติดตามใกล้ชิด ได้แก่ กลุ่มพลังงานในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ซึ่งหากชำระหนี้ไม่ได้ก็จะกระทบกับสถาบันการเงิน และอาจส่งผลไปยังกลุ่มอื่นๆได้ เช่น หุ้นกู้เอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือไฮยิลด์ บอนด์ และนำไปสู่วิกฤติเช่นในอดีต อย่างไรก็ตามจากข้อมูลยังพบว่าสัดส่วนที่สถาบันการเงินปล่อยกู้กลุ่มนี้ยังไม่มากประมาณ10-15%"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559