เคาะเบี้ยเรตเดียวประกันนาข้าว จ่อชงครม.ไฟเขียวคุ้มครองนาแล้ง 3 ปี/คาดปีนี้เพิ่มเป็น 5 ล้านไร่

08 มี.ค. 2559 | 13:00 น.
ประกันภัยหน้าข้าวใกล้ได้ข้อสรุป คลังเล็งเสนอโครงการคิดเหมาเบี้ยประกันภัยข้าวนาแล้งระยะ 3 ปี ครอบคลุมปี 2559 ถึง2561 หลังหารือ รี อินชัวร์เรอร์ใกล้ตกผลึก คาดเสนอครม.ทันทีมี.ค.นี้ ขณะเดียวกันเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายความคุ้มครองประเภทพืชให้ครอบคลุมในอนาคต

[caption id="attachment_36174" align="aligncenter" width="341"] ลักษณ์ วจนานวัช  ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ลักษณ์ วจนานวัช
ผู้จัดการ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร[/caption]

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง นำโดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เป็นศูนย์ในการกำหนดโครงการรับประกันภัยนั้น ความคืบหน้าล่าสุดได้มีการกำหนดโจทย์ให้สมาคมประกันวินาศภัยสรุปผลของโครงการประกันภัยพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2559/60 แล้ว ซึ่งภายในเดือนมีนาคม จะต้องสรุปรูปแบบการรับประกันทั้งหมดเพื่อเสนอต่อนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการอีกครั้ง

ทั้งนี้ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้รายงานข้อมูลเบื้องต้นหลังหารือกับบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ (Re insurance) ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย รวมถึงความคุ้มครองที่จะมีผลต่ออัตราเบี้ยประกันภัยได้ถูกกำหนดออกเป็น 2 ระยะ คือ หากมีจำนวนพื้นที่ที่ทำประกันภัยตั้งแต่ 1-3 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัยต่อไร่ควรจะอยู่ที่เท่าไร และหากมีการซื้อ 3-5 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่เท่าไร โดยการประกันภัยพื้นที่เพาะปลูกถือเป็นเรื่องใหม่ แต่เชื่อว่าความต้องการของภาคการเกษตรน่าจะสูงขึ้น เห็นได้จากโครงการปีที่ผ่านมา แม้จะมีจำนวนยอดซื้อประกันภัยคุ้มครองเพียง 1.5 ล้านไร่ จาก 65 ล้านไร่ทั่วประเทศ แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีว่าเกษตรกรที่เริ่มตื่นตัวและคาดว่าปี 2559 มีโอกาสสูงที่จะมีเกษตรกรที่อยู่นอกเขตภัยแล้ง สนใจและซื้อประกันภัยเพิ่มขึ้นใกล้เคียง 5 ล้านไร่

ดังนั้นภาคประกันภัยคงต้องกลับไปหารือเพื่อหาข้อสรุปสำหรับอัตราเบี้ยตลอดจนความคุ้มครอง เพราะโจทย์ที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องการปรับลดอัตราเบี้ยลดจากปีก่อน รวมถึงการเพิ่มความคุ้มครองที่กำหนดว่าต้องขยับเพิ่มเป็น 1,500 บาทต่อไร่ จากปีก่อนหน้าที่คุ้มครองเพียงไร่ละ 1,111 บาท ดังนั้นข้อมูลจะต้องได้ข้อยุติภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ทันเปิดขายโครงการซึ่งจะเหลือเวลาประมาณ 2 เดือนในการเตรียมการเท่านั้น

สอดคล้องกับนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล อดีตนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้ดูแลโครงการประกันภัยพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้เตรียมนำเสนอแนวทางประกันภัยให้แก่บริษัทรับประกันภัยต่อ (รี อินชัวร์เรอส์)ใน 2 รูปแบบ คือ 1.โครงการระยะสั้น คุ้มครองความเสียหายรวม 3 ปี มีผลตั้งแต่ปี 2559-2561 โดยเกณฑ์การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยจะคิดในอัตราเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ อัตราเบี้ยสำหรับ 1-3 ล้านไร่ และ 3-5 ล้านไร่ และมีความเป็นไปได้สูงที่ปี 2559 นี้ปริมาณความต้องการอาจสูงถึง 5 ล้านไร่ โดยอัตราเบี้ยจะกำหนดเป็นอัตรามาตรฐาน มีการคำนวณจากค่าความเสียหายทั้งสภาพดินฟ้า อากาศ ภัยแล้ง อุทกภัย และศัตรูพืชและจะได้ค่าเฉลี่ยครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

ที่สำคัญจากการประเมินความสนใจตลาดประกันภัยไทยจากสายตาต่างประเทศนั้น ได้รับการยืนยันว่า ต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามารับประกันภัย ผ่านโครงสร้างการปรับปรุงรูปแบบภาคการเกษตร โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศในลำดับต้นๆ ที่ธุรกิจประกันภัยยังมีโอกาสเติบโต วัดได้จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศมีอยู่ถึง 65 ล้านไร่ ขณะที่มีการทำประกันภัยไม่ถึง 1% ที่สำคัญภัยธรรมชาติใหญ่ๆ เช่น น้ำท่วม ก็ไม่เคยขึ้นมาหลายปีนับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ดังนั้นตลาดประกันภัยโดยเฉพาะพืชผลหรือภาคการเกษตร ที่ภาครัฐมีแนวทางที่จะปฏิรูปแบบขยายไปสู่พืชไร่อีกเช่น เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง อิงรูปแบบจากประเทศเกาหลีใต้

"ข้อดีของการคิดเบี้ยระยะ 3 ปี คือ จะมีเบี้ยประกันภัยแบบมาตรฐาน ภาครัฐสามารถกำหนดแผนพัฒนาเกษตรกรบนฐานความเสี่ยงที่กระจายได้อย่างชัดเจน และไม่ต้องไปเจรจากับบริษัทรับประกันภัยต่อทุกปีเหมือนที่ผ่านมา ที่สำคัญปีนี้มีการประเมินความเสี่ยงจากภัยแล้งจะรุนแรง ดังนั้นกรณีที่เกิดความเสียหายและมีมูลค่าสินไหมสูง รี อินชัวร์เรอร์ จะไม่สามารถปรับขึ้นเบี้ยตามสินไหมที่จ่ายไปได้"

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องกับจุดประสงค์ของทางภาครัฐ คือต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมรับความเสี่ยงแทนมากขึ้น จากปัจจุบันเมื่อพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวก็จะได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐที่ 1,113 บาทต่อไร่ ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรณีหากเป็นเกษตรกรซื้อประกันภัยคุ้มครองแล้ว เมื่อ ปภ. ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับการชดเชยก้อนที่ 2 อีกไร่ละ 1,111 บาทรวมเป็น 2,224 บาทต่อไร่ หากเสียหายจากศัตรูพืชจะได้รับการชดเชยที่ไร่ละ 555 บาทโดยจะเห็นว่า ปัจจุบันภาครัฐอุดหนุนเงินสำหรับจ่ายเวลาเกิดภัยพิบัติไม่ต่ำกว่า 60% ดังนั้นในอนาคตวงเงินความช่วยเหลือจะค่อยๆ ปรับลดลงเพื่อลดภาระด้านงบประมาณ แต่จะทำได้เกษตรกรจะต้องมีความรู้ด้านประกันภัย สะท้อนจากความต้องการซื้อความคุ้มครองที่เพิ่มสูงขึ้น

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า แนวทางประกันภัยภาคเกษตรอนาคตระยะยาวนั้น กระทรวงการคลังต้องการให้ขยายการรับประกันภัยที่ครอบคลุมไปในพืชประเภทอื่นๆ ด้วย ซึ่งปีนี้จะเริ่มจากโครงการประกันภัยข้าวที่ดำเนินการมาต่อเนื่องแล้ว โดยกำลังศึกษาอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม ในหลักการ คือ นโยบายของทางการนั้นต้องการเห็นภาคเอกชนเพิ่มสัดส่วนรับประกันภัยเพื่อลดสัดส่วนการชดเชยของภาครัฐลงโดยปรับเพิ่มทุนความคุ้มครองเป็น 1.4 พันบาทต่อไร่ จาก 1.1 พันบาทต่อไร่ ขณะเดียวกันทางการอยากให้ขยายพื้นที่เป้าหมายในการรับประกันภัยข้าวเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ปีนี้น่าจะทำได้ที่ 3ล้านไร่

"ปีนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยากให้ขยายพื้นที่เป้าหมายในการรับประกันภัยข้าวเป็นตัวเลข 2 หลักแต่ในทางปฏิบัติน่าจะทำเป็นโครงการต่อเนื่องแล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม เช่น จาก 8 แสนไร่เป็น 1.5 ล้านไร่ในปีที่ผ่านมาและปีนี้อาจจะเห็นที่ 3 ล้านไร่ ส่วนปีถัดไปขยับเป็น 5 ล้านไร่ จากนั้นเพิ่มเป็น 7 ล้านไร่และ 10 ล้านไร่ตามลำดับ"

อนึ่ง ภายใต้คณะทำงานขับเคลื่อนประกันภัยของกรรมาธิการปฏิรูปการเงิน การคลัง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติซึ่งมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ธ.ก.ส. สมาคมประกันวินาศภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาโครงการประกันภัยภาคเกษตรและประกันภัยสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการนำร่องในส่วนของโครงการประกันภัยภาคเกษตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559