ดึงทรัพย์NPA ร่วม ‘บ้านประชารัฐ’ จ่อชงครม.เคาะโมเดลสัปดาห์นี้

08 มี.ค. 2559 | 04:30 น.
ข้าราชการ-ลูกจ้างเฮ! ธนารักษ์ นัดถกเอกชน-แบงก์รัฐ เดินหน้าเคาะโมเดลบ้านประชารัฐสัปดาห์นี้ เตรียมใช้ ธพส. เป็นตัวกลางพัฒนาโครงการแทน คาดเฟส 1 สรุปวงเงินกู้ 500 ล้าน นำร่องที่ราชพัสดุ 2 แปลง "วัดไผ่ตัน-โรงกษาปณ์เก่า" 1,000 ยูนิต ปักธงค่าเช่า 3,000 บาท เกรดระดับราคา 2 หมื่น

[caption id="attachment_36284" align="aligncenter" width="379"] จักรกฤษฎิ์ พาราพันธกุล  อธิบดีกรมธนารักษ์ จักรกฤษฎิ์ พาราพันธกุล
อธิบดีกรมธนารักษ์[/caption]

โดยล่าสุดนายจักรกฤษฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้กรมธนารักษ์จะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าหารือพร้อมประชุมโครงการก่อสร้างบ้านประชารัฐ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารในกำกับของรัฐ (SFI) ตลอดจนบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส.เพื่อประชุมหารือพร้อมวางรูปแบบโครงการบ้านประชารัฐ (concept) ก่อนจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าประมูลก่อสร้างโครงการเร็วที่สุดภายใน 1-2 เดือนจากนี้ ซึ่งมีการกำหนดแน่ชัดแล้วว่า หากเป็นการสร้างบ้านประชารัฐบนที่ราชพัสดุนั้น จะสร้างเพื่อรองรับผู้อาศัยที่เป็นข้าราชการ-ลูกจ้างของรัฐ แต่หากเป็นที่ดินของเอกชนที่พัฒนาขึ้นจะพัฒนาสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเรื่องดังกล่าวจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้กรอบวงเงินก่อสร้างต่อพื้นที่อยู่ที่ 250 ล้านบาท โดยกรมธนารักษ์จะใช้หน่วยงานคือ ธพส. เป็นฝ่ายบริหารจัดการพร้อมดูแลโครงการบ้านประชารัฐ สำหรับที่มาของแหล่งเงิน ทาง ธพส. จะเป็นฝ่ายกู้เงินจากสถาบันการเงินในกำกับของรัฐ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อดำเนินการก่อสร้าง อย่างไรก็ดี กรมธนารักษ์สามารถกำหนดรายละเอียดพร้อมเดินหน้าโครงการได้เองโดยที่ไม่ต้องผ่านหรือขอมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากกรมธนารักษ์ มีอำนาจในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ได้

สำหรับพื้นที่นำร่องที่จะเกิดขึ้นและพร้อมสร้างภายในสิ้นปีนี้ คือพื้นที่บริเวณซอยวัดไผ่ตัน สามารถก่อสร้างโครงการในลักษณะอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม ระดับ 4 ดาวจำนวน 500 ยูนิต วงเงินลงทุนก่อสร้างต่อห้องหรือมีต้นทุนอยู่ที่ห้องละ 5 แสนบาท ส่วนพื้นที่ที่ 2 คือบริเวณโรงกษาปณ์เก่า ถนนประดิพัทธ์โครงการพื้นที่นี้จะใช้ลักษณะโมเดลเดียวกับซอยวัดไผ่ตัน ลักษณะเป็นอาคารชุดจำนวน 7 ชั้นรวม 500 ยูนิตราคาก่อสร้างต่อห้องอยู่ที่ 5 แสนบาท ขนาดพื้นที่ใช้สอย 23 ตารางวาต่อยูนิต

ดังนั้นเมื่อรวมทั้ง 2 พื้นที่คาดว่าจะสามารถก่อสร้างและรองรับข้าราชการลูกจ้างภาครัฐได้ 1 พันคนหรือ 1 พันครอบครัวโดยจะเปิดให้มีการลงชื่อเข้าจองเพื่อขอรับสิทธิ์หลังจากโครงการดำเนินการก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยซึ่งคาดว่าจะ เริ่มเปิดให้จองสิทธิ์ได้ตั้งแต่ปี 2560 โดยการคัดเลือกผู้รับสิทธิ์จะใช้การสุ่มรายชื่อจากเอกสารการจอง ผู้พักอาศัยจะต้องทำสัญญาในลักษณะเช่าระยะสั้นหรือต่อสัญญาทุกๆ 1 ปี เพื่อป้องกันการขายสิทธิ์หรือมอบสิทธิ์ให้ผู้อื่นเข้าอยู่แทน

อย่างไรก็ดี หากสถานะรายได้หรือเงินเดือนมีการปรับขึ้นก็จะต้องคืนสิทธิ์เพื่อให้เปิดให้ผู้เช่ารายอื่นเข้าอยู่อาศัยต่อไปซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังสรุปเกณฑ์ผู้เข้าพักอาศัยซึ่งขณะนี้วางไว้ 2 รูปแบบคือ 1 อิงจากรายรับหรือรายได้คือ มีเงินเดือนตั้งแต่ 1.5-2.0 หมื่นบาทขึ้นไป และ 2. อิงจากฐานเงินเดือน ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะต้องสรุปให้ได้ก่อนเปิดประมูลโครงการเพื่อที่กรมธนารักษ์จะสามารถจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ตรงกับกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือได้

ขณะนี้ในส่วนของสิทธิประโยชน์นอกเหนือที่เอกชนขอมายังกระทรวงการคลัง เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีหรือสิทธิการลดหย่อนภาษีนั้นตรงนี้อาจต้องหารือร่วมกับ สศค.คาดว่าจะมีการประชุมในนัดที่จะถึงนี้

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า โครงการบ้านประชารัฐ ทาง สศค.เปิดกว้างให้เอกชนที่สนใจ แต่ขณะนี้ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการขอให้กระทรวงการคลังอนุมัติในส่วนของสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ ขอยกเว้นภาษีโรงเรือนสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องจ่ายเมื่อขายห้องชุด หรือบ้านได้ จำนวน 12.5% กรณีที่ห้องชุดราคา 5 แสนบาท เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องจ่ายทันที 6.25 หมื่นบาท/ยูนิต ดังนั้นหากเป็นกรณีทาวน์เฮาส์หรือบ้านแถว ราคา 8 แสนบาท ทางผู้ประกอบการจะต้องจ่าย 1 แสนบาท/ยูนิตทันที เอกชนมองว่าภาษีดังกล่าวเป็นภาระ นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้กู้ เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ผ่านการอนุมัติ ป้องกันกรณีที่สร้างบ้านออกมาแล้วไม่สามารถขายหรือโอนได้

"กรณีบ้านประชารัฐที่ทำโดยเอกชน สศค.เปิดกว้างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้สามารถนำบ้านเดิมที่มีอยู่แต่ไม่สามารถขายได้ กลับปรับปรุงเป็นบ้านราคาถูกในโครงการ ครอบคลุมทั้งบ้านที่เป็น NPAหรือบ้านที่เป็นทรัพย์สินรอการขายที่อยู่ภายใต้บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือSAM เพื่อให้เกิดบ้านหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559