พีดีพีใหม่ผุด IPP 10 โรง!

07 ธ.ค. 2561 | 09:11 น.
071261-1602

เปิดร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ ยังพึ่งการใช้ก๊าซเป็นหลักถึง 53% ชี้! แอลเอ็นจีราคาถูก เลิกหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน เล็งผุดไอพีพี 10 แห่ง เปิดทางให้เอกชนประมูลแข่งขันกับ กฟผ. 8.3 พันเมกะวัตต์ คาดชง กพช. ไฟเขียวได้ปลาย ธ.ค. นี้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ขณะนี้ สนพ. ได้จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพีฉบับใหม่ (2560-2580) เสร็จแล้ว และในสัปดาห์นี้จะเร่งเดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำมารวบรวมเป็นแนวทางในการปรับปรุงร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ และจะสรุปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2561 นี้

 

[caption id="attachment_358376" align="aligncenter" width="200"] วัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน วัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน[/caption]

ทั้งนี้ การจัดทำร่างพีดีพีดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเฉลี่ยปีละ 3.8% โดยเมื่อสิ้นแผน ประเทศจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 73,211 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตปัจจุบัน อยู่ที่ราว 46,090 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นกำลังการผลิตใหม่ 51,415 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20,757 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจอเนอเรชัน 1,105 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,740 เมกะวัตต์ รวมถึงจะเปิดให้มีการประมูลโรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ หรือ ไอพีพี ที่จะให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกับ กฟผ. 8,300 เมกะวัตต์ หรือราว 10 แห่ง และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ โดยไม่มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่อย่างใด

โดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจะยังเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นหลักที่ 53% เนื่องจากสามารถพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากตลาดโลกในราคาถูกได้ ขณะที่ สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินจะลดลงมาอยู่ที่ 12% จากแผนเดิมอยู่ที่ 20-25% และจะไปเพิ่มสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนที่ระดับ 20% และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านราว 9% เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการจัดสรรโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่นั้น จะประกอบด้วย โรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ เช่น การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2565 เป็นต้นไป และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 120 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564-2565

 

[caption id="attachment_358378" align="aligncenter" width="503"] ©JerzyGorecki ©JerzyGorecki[/caption]

สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ซึ่งจะมีโรงไฟฟ้าจากแม่เมาะเข้ามาเสริมระบบ 600 เมกะวัตต์ ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีโรงไฟฟ้าน้ำพอง 650 เมกะวัตต์ จ่ายเข้าระบบในปี 2568 ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 700 เมกะวัตต์ ในปี 2569 และในปี 2571 ซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 700 เมกะวัตต์ รวมถึงจะเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกับ กฟผ. ประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2573 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าในปี 2575 พร้อมกับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ รวมอีก 2,100 เมกะวัตต์ นับจากปี 2575 เป็นต้นไป

ขณะที่ ภาคกลางตอนบนจะเปิดแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2575 ส่วนภาคตะวันออกจะมีการเปิดแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี 1,000 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576 และในปี 2580 อีกราว 700 เมกะวัตต์

อีกทั้ง ภาคตะวันออกจะเปิดแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576 และในปี 2580 เปิดประมูลแข่งขันอีก 700 เมกะวัตต์ ส่วนภาคตะวันตกนั้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าเดิมใน จ.ราชบุรี จะหมดอายุในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกับ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าใหม่และพร้อมจ่ายไฟฟ้าในปี 2566-2567 อีก 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการส่งไฟฟ้าลงไปภาคใต้ส่วนหนึ่ง

 

[caption id="attachment_358380" align="aligncenter" width="503"] ©IO-Images ©IO-Images[/caption]

สำหรับภาคใต้จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ใน จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง ขนาดโรงละ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2570 และ 2572 รวมทั้งจะเปิดให้เอกชนประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีแข่งกับ กฟผ. ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2577 และขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2578

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของเขตนครหลวง ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2569 และขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2570 และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2571 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2578 รวมทั้งจะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลโรงไฟฟ้าแข่งขันกับ กฟผ. อีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2580

อย่างไรก็ตาม แผนพีดีพีหากได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว จะมีการบังคับใช้ไปเป็นเวลา 2 ปี (2562-2563) และหลังจากนั้นจะมีการทบทวนแผนพีดีพีใหม่ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,424 วันที่ 6 - 8 ธ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ศิริ' ยัน! พีดีพีใหม่ "ถ่านหิน" ยังจําเป็น
ชงตั้งโรงไฟฟ้า 6 พื้นที่ พีดีพีใหม่ชี้มีความจำเป็น


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก