จับตา! "ทุนเกาหลีใต้-จีน" ขย่มธุรกิจ "โลว์คอสต์แอร์ไลน์ไทย"

09 ธ.ค. 2561 | 03:06 น.
หลังจากประเทศไทยถูกปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ล่าสุด จึงมีเพียง 2 สายการบินใหม่ ที่ผ่านเกณฑ์และกำลังจะได้รับอนุมัติให้ดำเนินธุรกิจการบินในฐานะสายการบินสัญชาติไทย

ได้แก่ 1.สายการบิน "ไทย อีสตาร์ เจ็ท" ที่ในขณะนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาอนุมัติใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ให้แก่สายการบินดังกล่าวแล้ว และ 2.สายการบิน "ไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์" ที่ก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับใบอนุญาต AOL ในช่วงต้นปี 2562


MP22-3425-A

2 แอร์ไลน์ จ่อสยายปีก
2 สายการบินดังกล่าว จัดว่าเป็นการร่วมลงทุนระหว่างคนไทยและต่างชาติ บริษัท ไทย อีสตาร์เจ็ท จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและสายการบิน "อีสตาร์ เจ็ท" เป็นสายการบินต้นทุนตํ่าของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผู้ถือหุ้นของ "ไทย อีสตาร์ เจ็ท" ประกอบไปด้วย บริษัท อีสสตาร์เจ็ท แอร์ เซอร์วิส จำกัด ถือหุ้น 1.99 ล้านหุ้น, นายซอคโฮ ปาร์ค ถือหุ้น 500 หุ้น, นายฉัตรชัย ใจพิทักษ์ ถือหุ้น 500 หุ้น ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2560

โดยที่ผ่านมา อีสตาร์ เจ็ท ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนตํ่าของเกาหลีใต้ ก็ทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-อินชอนอยู่แล้ว ดังนั้น การมาร่วมทุนตั้งสายการบินในไทย ไม่เพียงเป็นการต่อยอดธุรกิจโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ที่เชื่อมต่อจุดบินระหว่างไทย-เกาหลีใต้เท่านั้น ยังมองถึงโอกาสในการขยายจุดบินจากไทยไปยังจุดบินต่าง ๆ อีกด้วย

ขณะที่ สายการบิน "ไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์" ก็จะเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ร่วมทุนระหว่างกลุ่มทุนไทยและกลุ่มทุนจากประเทศจีน ผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย นายอัครพัชร์ ลี้โชติไพศาล ถือหุ้น 4 แสนหุ้น, นายบิน ถัว ถือหุ้น 12 ล้านหุ้น, นางดงเยี่ยน หวง ถือหุ้น 3.6 ล้านหุ้น, บริษัท ไทย หลง โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 24 ล้านหุ้น ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2561


eastarjet

"ไทย อีสตาร์ฯ" ต้องบินใน 1 ปี
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อไป สายการบิน "ไทย อีสตาร์ เจ็ท" ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จาก กพท. ก่อน จึงจะสามารถทำการบินได้ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ไม่เช่นนั้น AOL ที่ได้รับก็จะหมดอายุ และไม่สามารถทำการบินได้

ทั้งนี้ กระบวนการในการขอ AOC จะเข้มงวดตามมาตรฐานใหม่ในการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศ ที่จะมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ซึ่งในเบื้องต้น สายการบินจะทำการบินแบบเช่าเหมาลำ เส้นทางบินระหว่างประเทศ รวมทั้งมีรูปแบบธุรกิจที่จะต่อยอดเป็น "โลว์คอสต์ แอร์ไลน์" เชื่อมต่อจุดบินระหว่างไทยและเกาหลีใต้ คาดว่าน่าจะเริ่มทำการบินได้ภายในปี 2562

"สำหรับสายการบิน "ไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์" กพท. คาดว่าจะนำเสนอให้ รมว.คมนาคม พิจารณาออก AOL ให้สายการบินได้ในช่วงต้นปี 2562 โดยเบื้องต้น สายการบินจะทำการบินในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 สายการบิน ที่ทำเรื่องเข้ามาขอตั้งสายการบินใหม่ แต่ กพท. ตีกลับไปแล้ว 2 บริษัท เนื่องจากพิจารณาจากแผนธุรกิจแล้วไม่เห็นความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ ส่วนอีก 3 บริษัท อยู่ระหว่างการพิจารณา" นายจุฬา กล่าวทิ้งท้าย


ธุรกิจการบินของไทยหืดจับ
การเข้ามาเปิดธุรกิจของสายการบินดังกล่าว ซึ่งมีทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย จะยิ่งทำให้การแข่งขันในสมรภูมิการบินของไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจ "โลว์คอสต์ แอร์ไลน์" ที่เดิมมีมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เข้ามาร่วมทุนกับฝ่ายไทยทำธุรกิจอยู่แล้วเดิม ต่อไปก็จะมีหน้าใหม่จากเกาหลีใต้และจีนเข้ามามะรุมมะตุ้มเข้าไปอีก งานนี้ "โลว์คอสต์ แอร์ไลน์" สัญชาติไทย 100% อย่าง 'นกแอร์' ท่าจะหืดจับกว่าเก่า เพราะเดิมก็ขาดทุนบักโกรก แถมติดเครื่องหมาย C ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนจ่อจะเพิ่มทุนอีกระลอก

ส่วนโลว์คอสต์สายอื่น ซึ่งทำการบินอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า จากต้นทุนนํ้ามันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันด้านราคา ก็ทำให้รายได้มีแต่ถดถอยลงทุกปี หน้าใหม่มาก็ยิ่งเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเข้าไปอีก จากปัจจุบันที่เส้นทางบินในประเทศมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ราว 78 ล้านคนต่อปี กว่า 55.04 ล้านคน เป็นผู้โดยสารที่ใช้บริการโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศมีผู้ใช้บริการกว่า 78 ล้านคนต่อปี


……………….
รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3425 ระหว่างวันที่ 9 - 12 ธันวาคม 2561



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว