ชงผุด10เขตส่งเสริมพิเศษ ยกระดับนิคมฯเดิมใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรับ10อุตฯเป้าหมาย

15 ธ.ค. 2561 | 04:14 น.
อีอีซีเนื้อหอม แห่ผุดเขตส่งเสริมพิเศษอีก 10 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเดิม หวังยกระดับขึ้นเป็นพื้นที่การลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 นี้ จะมีการพิจารณาการขอจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 แห่ง จากที่ได้มีการอนุมัติไปก่อนหน้าแล้วราว 25 เขตส่งเสริม

โดยทั้ง 10 เขตส่งเสริม จะประกอบด้วย1.การจัดตั้งโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์บนพื้นที่ประมาณ 1,640 ไร่ เพื่อยกระดับ เป็นเขตส่งเสริม เพื่อกิจการอุตสาหกรรม และเพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และสามารถขยายกําลังการผลิต ได้อีก 1 เท่าตัวรองรับการขยายตัวในการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ในอนาคต

2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอจัดตั้งศูนย์พัทยา ที่มีขนาดของพื้นที่จำนวน 566 ไร่ เป็นเขตส่งเสริม ในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนา นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมดิจิตอล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี

3.บริษัทดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ขอจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) พื้นที่ 232 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 37 เพื่อดำเนินกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์อัจฉริยะและการพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มรวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

4.บริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด ขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูงบนเนื้อที่ 1,700 ไร่ จังหวัดระยองเพื่อรองรับโครงการใหม่ต่างๆ ต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นสูงภายในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลฯ ที่มีอยู่เดิม TP10-3425-A

5.การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พื้นที่ 3.55 พันไร่ จังหวัดชลบุรีเพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) และมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

6.บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ขอจัดตั้งพื้นที่บางส่วนของนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 625 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพื่อรองรับการประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

7. บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แหลมฉบัง เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม โครงการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีขนาดพื้นที่ 843.8 ไร่

บาร์ไลน์ฐาน

8.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ในอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เนื้อที่รวมประมาณ 2,037.27 ไร่ เพื่อรองรับ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 9.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 12,282 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve)

10.บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จำกัด ขอจัดตั้งเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (AIE) ในเขตตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง บนพื้นที่ทั้งหมด 3,220 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 | ฉบับ 3,425 ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว