ชี้ช่องจากทีมทูต | ความตกลงการค้าเสรี "เวียดนาม-สหภาพยุโรป" (EVFTA) และผลกระทบต่อไทย (ตอน 1)

11 ธ.ค. 2561 | 08:51 น.
| ชี้ช่องจากทีมทูต : ความตกลงการค้าเสรี "เวียดนาม-สหภาพยุโรป" (EVFTA) และผลกระทบต่อไทย (ตอน 1)

| โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

……………….


ความตกลงการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรป หรือ EU-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) ถือเป็นความตกลงทางการค้าที่มีความสำคัญมากที่สุดของสหภาพยุโรปกับประเทศกำลังพัฒนา เมื่อความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้สินค้านำเข้าของทั้ง 2 ฝ่าย จะถูกลดภาษีลง 99% และเพิ่มการขยายตลาดการบริการและการลงทุนของสหภาพยุโรปในเวียดนาม โดยทางเวียดนามคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 35% หรือเพิ่มขึ้น 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 1-2 ปี ส่วน GDP จะเพิ่มขึ้น 15% และค่าจ้างเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 13% หากเทียบกับมูลค่าที่ไม่มีความตกลงการค้าเสรี ในขณะที่ GDP ของสหภาพยุโรป หรือ อียู จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% และการส่งออกของสหภาพยุโรปไปยังอาเซียนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1%

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ประกาศว่า เวียดนามและอียูได้ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายความตกลงฯ และสรุปผลการเจรจาสาระในความตกลงเพื่อการคุ้มครองการลงทุนแล้ว คาดการณ์ว่าจะสามารถลงนามได้ภายในปี 2561 และแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารภายในเดือน มี.ค. 2562

 

[caption id="attachment_358030" align="aligncenter" width="503"] ฌอง-คล้อด ยุงเคอร์ ประธานกรรมาธิการยุโรป และเหงียน เติ้น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามในปี 2558 ฌอง-คล้อด ยุงเคอร์ ประธานกรรมาธิการยุโรป และเหงียน เติ้น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามในปี 2558[/caption]

โดยสาระสำคัญของความตกลงการค้าเสรี EVFTA ในด้านข้อผูกพันในการเปิดตลาดสินค้าของอียู อาทิ อียูจะเริ่มลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเวียดนามทันทีภายหลังความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้ โดยจะลดลงไปกว่า 85.6% ของภาษี เทียบเท่า 70.3% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังอียู และอียูจะลดภาษีลง 99.2% ภายใน 7 ปี เทียบเท่า 99.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปยังอียู ส่วน 0.3% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เหลือ ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด กระเทียม เห็ด นํ้าตาลและสินค้าที่มีนํ้าตาลสูง แป้งมันสำปะหลัง ปูอัด และปลาทูน่ากระป๋อง อียูจะให้โควตาในการส่งด้วยรูปแบบการค้ากึ่งเสรีผ่านโควตา หรือ Zero-Duty Tariff Rate Quotas (TRQs) ด้วยภาษีนำเข้า 0%

ในด้านข้อผูกพันในการเปิดตลาดสินค้า เวียดนามจะเริ่มลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าของอียูกว่า 65% ของภาษี ทันทีที่ความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้ และภายใน 10 ปี เวียดนามจะลดภาษีกว่า 99% โดยภาษีที่เหลือจะได้รับการลดภาษีแบบโควตาภาษีศุลกากรร้อยละ 0% โดยรายการสินค้าสำคัญที่เวียดนามจะดำเนินการลดภาษีให้แก่อียู อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ฯลฯ

ส่วนการลดอุปสรรคทางเทคนิคสำหรับการค้า (Technical Barriers to Trade : TBT) ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องที่จะยกระดับการปฏิบัติตามความตกลงเกี่ยวกับอุปสรรคทางเทคนิคสำหรับการค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการค้าเสรีในกรอบของความตกลงขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) โดยเวียดนามมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้มาตรฐานสากลเกี่ยวกับ TBT ซึ่งในความตกลง EVFTA มีภาคผนวกที่แยกเฉพาะเกี่ยวกับอุปสรรค ที่มิใช่ภาษีสำหรับภาคยานยนต์ เวียดนามจะรับรองใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (Certificate of Conformity - COC) ของอียู ภายหลังระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ รวมถึงมุ่งมั่นที่จะยอมรับเครื่องหมายการค้า "Made in EU" สำหรับผลิตภัณฑ์นอกภาคการเกษตร (ยกเว้นผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม) และยังคงยอมรับเครื่องหมายการค้าที่มีต้นกำเนิดในประเทศในอียู


090861-1927-9-335x503-335x503

อย่างไรก็ตาม ความตกลง EVFTA มีภาคผนวกเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม (สินค้าส่งออกสำคัญของอียู คิดเป็นประมาณ 9% ของการนำเข้าสินค้าของเวียดนามจากอียู) โดยทั้ง 2 ฝ่าย จะตกลงมีมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมระหว่างกัน เวียดนามจะอนุญาตให้บริษัทต่างชาตินำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมให้แก่ผู้จำหน่ายและผู้ค้าส่งในเวียดนาม และจะอนุญาตให้ผู้ประมูลจากอียูเข้าร่วมการประมูลจำหน่ายผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมให้แก่องค์กรของรัฐ (หน่วยงานที่สังกัดต่อรัฐบาลกลาง กระทรวง) ทั้งนี้ การประมูลเพื่อจำหน่ายยาประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีมูลค่าตํ่ากว่า 130,000 SDRs (Special Drawing Rights หรือ สิทธิพิเศษถอนเงิน) หรือมีมูลค่าตํ่ากว่าประมาณ 4,100 ล้านด่อง จะไม่อยู่ในขอบเขตของความตกลง EVFTA

สาระสำคัญของความตกลงการค้าเสรี EVFTA ในการเปิดตลาดภาคบริการและการลงทุน คือ ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องเปิดตลาดในประเทศให้กับผู้ประกอบการภาคบริการ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการของภาคธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งข้อผูกพันของทั้ง 2 ฝ่าย จะสูงกว่าข้อผูกพันของแต่ละฝ่ายที่มีให้แก่องค์การการค้าโลก


โปรดติดตามตอนต่อไปสาระสำคัญเน้น ๆ ของความตกลง EVFTA

คอลัมน์ | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,425 ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว