ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ภูมิทัศน์การเมืองไทย กับพรรคการเมือง

06 ธ.ค. 2561 | 12:14 น.
ภูมิทัศนะ-1

[caption id="attachment_357951" align="aligncenter" width="503"] พิภพ ธงไชย พิภพ ธงไชย[/caption]

ผมได้รับข้อความทางไลน์มาจากพี่ พิภพ ธงไชย นักคิดนักต่อสู้เพื่อสังคม นักกิจกรรมภาคประชาชน และอดีตแกนนำคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ส่งข้อความจากผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองมาให้ผมได้อ่าน ซึ่งเป็นข้อสังเกตการณ์ที่น่าสนใจ จึงขอนำมากล่าวถึงในข้อเขียนนี้ ซึ่งจะเชื่อมโยงให้เห็นต่อไปถึง “ภูมิทัศน์การเมืองไทย” ในอนาคตอันใกล้ที่กำลังเป็นอยู่และจะมาถึงในการเลือกตั้งทั่วไป ท่านผู้สังเกตการณ์ท่านนั้นได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ 2 พรรคการเมืองไทย อาจมองไม่เห็นหลังเหตุการณ์การเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชนไทยปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 คือ

1. มีคนเข้าร่วมกับเหตุการณ์เคลื่อนไหวนี้ (น่าจะหมายถึงช่วง กปปส.) เกือบ 10 ล้านคน

2. ฐานการเปลี่ยนแปลงเกิดจากเจตนารมณ์ของมหาชน แล้วถูกหัวหอกของอำนาจใช้ประโยชน์ในการทำรัฐประหาร

3. พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่สูญเสียความนิยมและแรงสนับสนุนจากประชาชน จากจุดเริ่มต้น ณ เวลานั้นไปพรรคละหลายล้านคน
shutdown-bkk_0 4. การเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมือง 2 พรรค จึงก้าวย่างจากฐานคะแนนมวลชนที่ตกตํ่าลงมากกว่าเดิมมาก เทียบกับการเลือกตั้งปี 25545. กลุ่มทุนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มทุนต่างจังหวัด สัมผัสได้กับกระแสความนิยมและแรงศรัทธาที่ตกตํ่าลงนี้ เป็นที่มาและเหตุผลหลักของการย้ายพรรค ....การดูดเป็นเพียงปลายเหตุ (เป็นเพียงปลายเหตุจริงๆ)

6. พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค จะเสียพื้นที่ไปเกินครึ่งค่อนข้างแน่นอน

7. คำขวัญและคำโฆษณาทางการเมืองแบบเดิมๆ ก่อนปี 2556 ใช้กับสังคมการเมืองไทยไม่ได้อีกต่อไป

8.คุณภาพทางการเมืองของสังคมไทยและประชาชนไทยเปลี่ยนแปลงไปโดยภาวะวิสัย หากใครมองเนื้อแท้ภายในในหลายๆ ด้านไม่ออก และยึดโยงอยู่กับ “คำขวัญทางการเมืองแบบเดิม” ย่อมจะกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ค่อยๆ ล้าหลังกว่ามวลชนไปโดยอัตโนมัติ!
เพื่อไทย 9. พัฒนาการนี้โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่การเมืองแบบ กปปส.โดยสิ้นเชิง!

10. ประชาชนไทยทั้งประเทศ จะเลือกสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าดีกว่าตามระดับความตื่นตัวทางการเมืองที่เป็นจริงของพวกเขา

11. ใครไม่เชื่อก็คอยดู กาลเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ ถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวพิสูจน์เรื่องราวที่มีการวิเคราะห์ไว้ทั้งหมดว่า “ใครกันที่ยืนอยู่ในป่า แต่กลับไม่เห็นต้นไม้ใดๆ สักต้นเลย” (จาก Line อุดม ศรีนวล กลุ่มเพื่อนหนังสือ_Book 3/12/61)

ข้อความทั้งหมดดังกล่าว ผมนำมาลงตามนั้นโดยมิได้ตัดต่อ ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่ผู้เขียนเห็นคล้อยด้วยหลายข้อ ซึ่งคงมาจากประสบการณ์ทางการเมืองของผู้เขียน ที่น่าจะผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาโชกโชนยาวนาน ใกล้เคียงกันกับพี่พิภพ ธงไชย ตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ ในทางวิชาการเขาเรียกกันว่าเป็น “ภูมิทัศน์การเมืองไทย” ในภาษาของนักต่อสู้ทางการเมือง ตามหลักทฤษฎีลัทธิมาร์ก-เลนิน หรือ เหม๋า เจ๋อตุง เขาเรียกกันว่า “สภาพทางภาววิสัย” นั่นก็คือสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปทางการเมืองของสังคมไทย ในแต่ละยุคสมัย และช่วงเวลาของเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ อยู่สนามการเมืองต้องเข้าใจภาววิสัย จึงจะปรับอัตวิสัยให้เข้ากับสภาพนั้นได้

[caption id="attachment_357698" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

โดยความเป็นจริงในช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2540-2561 อันเป็นระยะเวลา 21 ปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสังคมการเมืองไทยในรอบกว่า 20 ปี ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และอุดมการณ์ มีผลต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ชนชั้นต่างๆ ในสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลง ช่องว่างทางชนชั้น การจัดกลุ่มคนในสังคม จำต้องมีการทบทวนใหม่ ความคิดและความคาดหวังของผู้คนในสังคม ในระดับชนชั้นต่างๆ จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจใหม่

พรรคการเมืองและนักการเมือง ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้รับการยอมรับจากมวลมหาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ การสร้างนโยบายแห่งรัฐที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มประชาชนเป้าหมายในระดับชั้นต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง หรือการสร้างนโยบายสาธารณะแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างความนิยมที่ยั่งยืนจากประชาชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพรรคการเมือง
21-1 การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบเดิมอย่างพรรคการเมืองเก่าๆ นิยมทำกัน เช่น การโจมตีใส่ร้ายคู่แข่ง, การออกมาแสดงแต่ในทางฝีปากดี พูดจาปราศรัยนํ้าไหลไฟดับ, แบล็กเมล์คู่แข่ง, คาดโทษข่มขู่ข้าราชการ, มีอำนาจเมื่อไหร่เตรียมเอาคืนก็ดี โดยไม่เคยคิดที่จะเสนอแนวคิด นโยบายในการแก้ปัญหาประเทศ แก้ปัญหาประชาชน นำพาบ้านเมืองก้าวสู่สังคมที่ดีกว่าอย่างไรนั้น หรือหากมีอำนาจจะดำเนินการบริหารประเทศอย่างไรให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ แข่งกันทำความดีกับประชาชน มากกว่าจะตีโพยตีพายเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง หาว่าคนอื่นเอาเปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อยากฟังและน่ารำคาญ

โลกยุคใหม่และการเมืองใหม่ ทุกประเทศทุกสังคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองทั้งหลายต้องสนใจและให้ความสำคัญกับการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสังคมการเมือง” ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอุดมการณ์ ความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนในสังคมนั้นๆ เพราะหากไม่รู้จักประชาชนดี ไม่เข้าใจไม่เข้าถึง ก็เป็นดั่งคนที่ยืนอยู่ในป่า แต่กลับไม่เห็นต้นไม้ใดๆ สักต้นเลยนั่นแหละ

กล่าวโดยเฉพาะเจาะจง ในช่วงเวลานับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็นเหตุการณ์การรัฐประหาร โดย คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทย ประชาชนไทย ต้องอยู่กับรัฐบาลที่ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี และบริหารบ้านเมืองเยี่ยงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจบริหารเต็มร้อย ไม่มีฝ่ายค้าน รัฐบาลทำงานได้เต็มที่เต็มร้อยเต็มเวลา อยู่ในวาระครบ 4 ปี จนก้าวย่างสู่ปีที่ 5 ช่วงเวลาเกือบ 5 ปีนี้ เชื่อว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทย ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่นักยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องศึกษาทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทยเสียใหม่

ใครมองทะลุ ศึกษาเข้าใจ จับแก่นแท้ปัญหาสังคมการเมืองไทยถูกต้อง เข้าใจเข้าถึงความต้องการแท้จริงของประชาชนชนชั้นต่างๆ ได้ดี ขับเคลื่อนประเทศไปถูกทิศทาง สร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้โดยแท้จริง พรรคการเมืองนั้นย่อมกำชัยชนะได้

แต่ถ้าพรรคการเมืองใด ยังเพ้อฝันกับความสำเร็จในอดีต จมปลักอยู่กับวิธีคิดและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบเดิม ตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ไม่เข้าใจประชาชน พรรคการเมืองนั้นๆ ก็จะถูกประชาชนทอดทิ้ง ถูกกงล้อประวัติศาสตร์บดขยี้ให้จมหายไปอย่างแน่นอน

| คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับ 3424 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ธ.ค.2561
595959859