ทางออกนอกตำรา : จำไว้ใส่กบาล! ใครเปิดประตูให้หุ้นโรงเรียนทำกำไร....

05 ธ.ค. 2561 | 13:32 น.
จำไว้ News-07-ins-02-หุ้นเอสไอเอสบี-ปิดตลาดติดลบ-oil-.mxf_snapshot_00.00.667 ยังกลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมกันอย่างรุนแรง เข้าขั้น “ดราม่า” บนความคิดต่างอย่างสุดขั้ว หลัง บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนในระบบตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ประเภท โรงเรียนนานาชาติ เสนอขายหุ้นไอพีโอ 260 ล้านหุ้น ในราคา 5.20 บาท/หุ้น และเปิดซื้อขายหุ้นกันไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2561

นับตั้งแต่เปิดขายหุ้นในกระดานมา จนบัดป่านนี้ ราคาหุ้นที่ซื้อขายยังไม่โผล่พ้นน้ำ ยืนเป๋ไปเซมาอยู่ที่ 4.20-4.40 บาท

ราคาที่คุยกัน และราคาที่โบรกเกอร์จอมปั่นพยายามสร้างราคาว่ายืนที่ 7 บาท เป็นขั้นต่ำ เหนือจองแน่นอน จึงเป็นแค่ราคาคุยสร้างราคาให้คนจองซื้อ 5,000-6,000 คน หลงเชื่อเท่านั้น เพราะถึงตอนนี้ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาโม้มหาศาล

คนเจ็บช้ำไม่เพียงแค่ทุนสิงคโปร์ผู้เป็นเจ้าของมาร์เก็ตติ้งที่ทนลูกค้าด่ากราด บรรดาผู้ปกครองนักเรียนร่วม 2,000 คน ที่ถูกบังคับจองซื้อหุ้นก็เจ็บปวด เพราะเงินหายเป็นหมื่นเป็นแสนบาทในเวลา 10 วัน

ถึงขนาดมีการก่นด่า สร้างวาทกรรมความขัดแย้งว่า “มีผู้ร้ายจากพรรคปชป.มาปล้นกลางแดด”
47321030_2386286208057587_9211581634367717376_n
เพราะถ้า จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยื่นหนังสือคัดค้าน และร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาว่า การที่ก.ล.ต.อนุญาตให้โรงเรียนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นขัดกับหลักการจัดการศึกษาหรือไม่ ป่านนี้ราคาหุ้นโรงเรียน SISB วิ่งไปไหนต่อไหนแล้ว

ต้องยอมรับว่า เรื่องธุรกิจโรงเรียนนำหุ้นมาซื้อขาย ได้ขยายวงของข้อถกเถียงที่กว้างออกไปมากชนิดที่ “กรรมการ” ตลาดหลักทรัพย์ บอร์ด ก.ล.ต.หรือเลขาธิการ ก.ล.ต.จะคาดคิดได้

แม้ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกมายืนกรานว่า ทำตามขั้นตอน มีระเบียบที่ชัดเจน  การที่ SISB เข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียน จะเป็นการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนมากขึ้น

[caption id="attachment_357515" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะที่ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.ออกโรงมาชี้แจงว่า ได้พิจารณาคุณสมบัติและพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของ SISB ตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ถือว่า SISB มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จึงไม่มีเหตุจะปฏิเสธคำขอ และพร้อมที่จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล

แต่บาดแผลของหุ้นโรงเรียนเกิดขึ้นจากการไม่ทำความเข้าใจกับสังคมไปแล้ว

รพีเคยออกมาบอกเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 เมื่อโรงเรียนเอกชนรายนี้ขอยื่นไฟลิ่งว่า เรื่องการนำธุรกิจโรงเรียนเข้าตลาดหุ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

หากรพีจำไม่ได้ผมขอนำบันทึกคำพูดที่นักข่าวฐานเศรษฐกิจสอบถามในเรื่องนี้ รพี สุจริตกุล บอกว่า แม้ในกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีข้อห้ามใดๆ กำหนดว่า ห้ามธุรกิจโรงเรียน สถานพยาบาล เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทย จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ รัดกุม เพื่อสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติที่ดีของสังคม

รพี ยังส่งสัญญาณออกมาอีกว่า แม้จะไม่มีข้อห้าม แต่ทางหน่วยงานต้นสังกัดคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่กำกับดูแลต้องเห็นชอบก่อน จากนั้นก.ล.ต.จึงจะพิจารณา และต้องทำความเข้าใจกันกับคนในสังคมให้ได้ ถ้าคนค้านมาก ก็ยากที่จะระดมทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา...

นั่นคือคำพูดของรพี ในเดือนสิงหาคม 2561

[caption id="attachment_357572" align="aligncenter" width="503"] รพี สุจริตกุล รพี สุจริตกุล[/caption]

แต่ในทางปฏิบัติถ้าพิจารณาจากคำชี้แจงของก.ล.ต.เมื่อเอกชนยื่นเรื่องมา ทางก.ล.ต.ทำหนังสือสอบถามไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้เอกชนทำธุรกิจโรงเรียนว่าขายหุ้นได้หรือไม่ เมื่อ สช.ทำหนังสือตอบมาว่า ไม่ขัดกับกฎหมาย ก.ล.ต.ทำอย่างไรครับ...

16 พฤศจิกายน 2561 ก.ล.ต.จึงมีคำสั่งลงนามอนุญาตให้โรงเรียน SISB นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ วันที่ 22-26 พฤศจิกายน ทางโรงเรียนจึงเปิดจองหุ้นกันให้โจ๋งครึ่มมีการสร้างราคาธุรกิจการศึกษากันหนักหน่วงด้วยการบอกว่ามีคนจองจากการเบิดบุ๊กบิลด์ถึง 14 เท่า

สะท้อนว่า สิ่งที่รพีเคยพูดนั้น เป็นเพียงคำ “ผายลม” เท่านั้น ก.ล.ต.ไม่เคยคิดจะรับฟังความเห็นจากผู้คนในสังคมแม้แต่น้อย

"การศึกษา" ถือว่าเป็น Public Good  ในอารยประเทศการบริการทางการศึกษา เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดบริการด้านการศึกษาให้กับประชาชนทุกระดับ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ แต่ด้วยความสามารถของรัฐมีจำกัด จึงเปิดให้เอกชนที่มีความสามารถเข้ามาให้บริการ แต่ต้องเน้นในด้านการศึกษา ไม่ใช่มุ่งเน้นแสวงหากำไรสูงสุด คืนกลับไปยังผู้ถือหุ้น เฉกเช่น การทำธุรกิจทั่วไป

แม้ว่า โรงเรียนนานาชาติ จะเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์ตัดสินใจเลือกส่งบุตรหลานไปเรียนตามศักยภาพของแต่ละคน มิได้เป็น "ภาคบังคับ" เพราะรัฐบาลก็มีสถานศึกษาให้เล่าเรียน หากเห็นว่าแพงไปก็เลือกส่งไปที่อื่นได้

แต่ตามกฎหมายนั้นระบุชัดว่า ผู้ขอใบอนุญาตตั้งโรงเรียนเอกชนนั้นมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นพัฒนาการศึกษา มิได้มุ่งเน้นการทำกำไรเป็นหลัก เพราะด้วยจิตวิญญาณแล้วพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลุกเรียนที่ดีๆ ถึงแม้จะแพงแสนโหด

ถึงตอนนี้โรงเรียนนานาชาติเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไปแล้วแม้ราคาจะมิตอบสนอง  และเกิดปรากฎการณ์โรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังอีกนับ 10 แห่ง จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของไทย และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับปัญหาที่จะตามมา

ไม่มีใครปฏิเสธในเรื่องการหาวิธีการระดมทุนที่เหมาะสมให้กับสถานศึกษาเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศ

แต่ธุรกิจการศึกษามันมากกว่า การให้นำหุ้นมาซื้อขายเก็งกำไรกันในตลาดหุ้น และผลักดันให้ผู้บริหารต้องทำกำไรสูงสุดเพื่อตอบแทนกลับไปยังผู้ถือหุ้นแน่นอน

หลักคิด จุดยืนตรงนี้ ต้องนำมาประมวลผล และพิจารณาร่วมกัน มิใช่สนับสนุนกันแบบสุดโต่ง ชนิดถ้าไม่เห็นด้วย ก็เป็นพวกทำลาย พวกมาร

ปัจจุบันแม้ไม่มีการอนุญาตให้โรงเรียนเอกชนนำหุ้นมาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นกัน แต่ธุรกิจโรงเรียนเอกชนนั้นหอมหวานมากในเรื่องของผลกำไร
ipo_sisb_img2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธุรกิจการศึกษาพุ่งติดท็อปเทนดาวรุ่งในปี 2560 โดยประเมินเม็ดเงินคร่าวๆ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท และมีกลุ่มทุนแห่ลงทุนในสินทรัพย์อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการศึกษาที่มีแนวโน้มแข่งขันกันสูงจากการสอบวัดระดับของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยสำรวจเม็ดเงินค่าใช้จ่ายบริการด้านการศึกษาเฉพาะช่วงเปิดเทอมใหญ่เดือนพฤษภาคม 2559 ในระดับก่อนอุดมศึกษาจากผู้ปกครองทั่วประเทศไทย มีมูลค่า 60,900 ล้านบาท เติบโต 2% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีมูลค่า 59,700 ล้านบาท แยกเป็นค่าเทอมโรงเรียนเอกชนประมาณ 40,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอมประมาณ 16,700 ล้านบาท ค่าเรียนกวดวิชาประมาณ 2,800 ล้านบาท และค่าเรียนเสริมทักษะอื่นๆ อีก 800 ล้านบาท

แสดงว่า เค้กก้อนนี้เติบโตดีจึงมีผู้มาลงทุนมากขนาดนี้ และเมื่อตรวจลึกลงไปเค้กก้อนนี้ดี เพราะรัฐบาลไทยส่งเสริมในเรื่องการเว้นภาษีธุรกิจโรงเรียน แต่ผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐไม่เคยนำแต่ละจุด แต่ละองค์ประกอบมาพิจารณาในภาพรวม

ผมเชื่อว่า ปัญหาธุรกิจการศึกษาจะบุกมาถึงครอบครัวคนไทยในระยะเวลาอันใกล้ไม่เกิน 5 ปี นับจากนี้ไปแน่นอน

เพราะถ้าผู้นิยม “ทุนนิยมเสรี” เปิดทางให้ “ทุนสามานย์” บุกเข้ามาเคาะประตูบ้านแบบนี้ ผู้ปกครองคนไทยทั้งหลายจำไว้ให้ดี ใครเปิดประตูให้ทุกข์มาบุกถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจของพวกท่าน

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3424 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ธ.ค.2561
595959859