"มิตซูบิชิ"ตั้งเป้าปี2562โกยยอดแสนคัน

07 ธ.ค. 2561 | 05:29 น.
มิตซูบิชิ ฟุ้งยอดขายรถโต ดันส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม มั่นใจปี 62 โกยยอดกว่า 1 แสนคัน ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศปีหน้า คาดว่าจะเติบโต 3%

นายเอกอธิ รัตนอารี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่สายงานขายในประเทศและบริการหลังการขาย บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศ ไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายยอดขายในปี 2562 อยู่ที่ 1 แสนคัน และ ส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 9 % ขณะที่ยอดขายในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-ตุลาคม) ทำได้ 6.8 หมื่นคัน และเชื่อว่าอีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้จะสามารถทำได้ไม่ตํ่ากว่า 8.5 หมื่นคัน และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.1%

[caption id="attachment_357196" align="aligncenter" width="336"] เอกอธิ รัตนอารี เอกอธิ รัตนอารี[/caption]

“ส่วนแบ่งทางการตลาดของเราเติบโตกว่าที่ได้วางไว้ ซึ่งปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยอดขายเติบโตหรือส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นนั้น คือความนิยมในปิกอัพไทรทัน ที่มีสัดส่วนการขายกว่า 50% ส่วนในกลุ่มรถเล็กอย่างมิราจ,แอททราจ มีสัดส่วนประมาณ 33%, ปาเจโร สปอร์ต 15% และที่เหลือคือ เอ็กซ์แพนเดอร์ ที่แม้จะเพิ่งเปิดตัวแต่มียอดจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”

ด้านตลาดส่งออกในช่วง 10 เดือนพบว่าในกลุ่มรถยนต์ทั้งคันหรือ CBU มีตัวเลข 2.4 แสนคัน ส่วน ในกลุ่มชิ้นส่วนสำเร็จรูปเพื่อนำไปประกอบรถหรือ CKD นั้น ทำได้ 4.9 หมื่นคัน โดยตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2561 ตัวเลขของ CBU จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 2.9 แสนคัน แต่ในกลุ่ม CKD นั้นจะเติบโตกว่า 40% หรือประมาณ 6 หมื่นคัน

“ปีนี้เราส่งออกแบบ CKD เพิ่มมากขึ้น ส่วนตลาดส่งออกนั้นก็มีทั้งยุโรป ,เอเชีย, อเมริกาเหนือ ,ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ขณะที่ตลาดเวียดนามที่ได้รับผลกระทบเรื่องมาตรการภาษีใหม่นั้น บริษัทก็เพิ่งจะเริ่มส่งรถเข้าไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ว่ายอดที่ส่งไปยังไม่เยอะมาก”

บาร์ไลน์ฐาน

ปัจจุบันมิตซูบิชิมีโรงงานในไทย 3 แห่ง และมีกำลังการผลิตรวม 4.2 แสนคัน โดยโรงงานที่ 1 ผลิตปาเจโร สปอร์ต ,โรงงานแห่งที่ 2 ผลิตรถปิกอัพ ไทรทัน ซึ่งถือว่าเต็มกำลังการผลิต และโรงงานแห่งที่ 3 ผลิตอีโคคาร์ อย่างมิราจและแอททราจ

ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ในปี 2562 คาดว่าจะมีตัวเลขการขายประมาณ 1.07 ล้านคัน หรือเติบโตประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีนี้ โดยปัจจัยสนับสนุนคือจีดีพีที่เติบโต ,การครบรอบการถือครองรถคันแรก,
การเลือกตั้งที่จะส่งผลบวกต่อรถปิกอัพ, รวมไปถึงเศรษฐกิจพื้นฐานยังดีอยู่ อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยง
อาทิ ดอกเบี้ย, ราคาพืชผลทางการเกษตร และสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน

“พื้นฐานของเศรษฐกิจในไทยถือว่าดี เพราะจีดีพีโต ,การบริโภคดี,การลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน แต่ทั้งนี้เรายังต้องมองอีกหลายปัจจัยประกอบ เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าไปทั่วโลกซึ่งเศรษฐกิจในยุโรปก็น่าเป็นห่วง ส่วนปัญหาของจีนและอเมริกาก็ต้องจับตามอง เพราะไทยส่งออกสินค้าไปจีนพอสมควร”

นายเอกอธิ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเตรียมการซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร และตอนนี้ยังระบุไม่ได้ว่าจะเป็นรถรุ่นไหน ประเภทอะไร แต่ยืนยันว่าจะยื่นสมัครตามกำหนดเวลาที่รัฐฯระบุไว้ในสิ้นปีนี้

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,424 วันที่  6 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2561

595959859